วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทางเลือกรัฐสยามหลังเผด็จการ ข้อเสนอเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน




ศิวา มหายุทธ์


การรัฐประหาร เดือนพฤษภาคม 2557 ที่วางแผนมานานกว่า 2 ปี โดยกลุ่มเผด็จการสมคบคิดนำโดยชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองที่ยังคงรักษาพื้นที่ทางอำนาจนำ และความพยายามทวงอำนาจกลับคืนมาอย่างเบ็ดเสร็จ โดยอาศัยพลังสนับสนุนของเงื่อนไขทางสังคมจำเพาะ

การรัฐประหารดังกล่าว ผสานอย่างได้จังหวะกับ การทรยศของกลุ่มทุนใหม่ภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตรและพวก (ที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์และการเติบใหญ่ขยายตัวของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม) ต่อมวลชนที่ตาสว่างแล้วประกอบด้วยชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัด และชนชั้นกลางล่างในเมืองใหญ่ ซึ่งเคยเป็น “หุ้นส่วนทางการเมืองที่เหลือเชื่อ” มาก่อน ภายใต้ข้อเสนอประหลาด”แกล้งตายชั่วคราว” หรือ “ความอยู่ในความสงบ ให้ศัตรูทำลายตัวเอง คือ การตอบโต้ที่เจ็บปวด” เพื่ออำพรางพฤติกรรมแบบนักฉวยโอกาสของตนเอง

ผลลัพธ์ของการรัฐประหารอันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ระหว่าง ชนชั้นนำที่เป็นทุนผูกขาด 2 กลุ่ม (ซึ่งเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้แหลมคมเคยเรียกว่า ผู้ร้ายหลัก และ ผู้ร้ายรอง ของประชาธิปไตย) ซึ่งตั้งบนรากฐานของความเหลื่อมล้ำ และการไม่อาจประนีประนอมได้ มีผลให้ชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัด และชนชั้นกลางล่างในเมืองใหญ่ ต้องเริ่มนับ 1 ในการต่อสู้ร่วมกับผู้รักประชาธิปไตยเสรีภาพ ความเสมอภาค การมีส่วนร่วม และ ความเป็นธรรม อีกครั้งอย่างลองผิดลองใต้อุ้งเท้าเผด็จการ

หากเป้าหมายการผูกขาดอำนาจของกลุ่มอำนาจอยู่ที่การออกแบบประเทศในนามของ การปฏิรูปประเทศ เพื่อหมุนเวลากลับย้อนไปสู่สภาพประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่การเลือกตั้งก็มีความหมายทางพิธีกรรมทางอำนาจ พวกเขาย่อมมีปลายที่ที่ล้มเหลว เพราะการกระทำดังกล่าว เป็นการทวนกระแสประวัติศาสตร๋ เดินสวนทางกับข้อเท็จจริงของสังคม เศรษฐกิจและพัฒนาการที่ว่า ในปัจจุบันประเทศเราได้ยกระดับเป็นประเทศที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการมีบทบาทสูงกว่าภาคเกษตรเด็ดขาด และเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจเปิดกว้างเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก พร้อมกับโครงสร้างประชากรก็มีพลวัตไปอย่างมาก เรียกร้องการกระจายอำนาจการตัดสินใจในนโยบายมหภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ

แนวทางของกลุ่มเผด็จการสมคบคิดดังกล่าว ไม่ว่าจะพยายามอำพรางด้วยถ้อยคำหรือการโฆษณาชวนเชื่ออย่างไร (เช่น รัฐที่อยู่เหนือทุนดีกว่าประชาธิปไตยใต้ทุนสามานย์) ไม่อาจปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเขากำลังหาช่องเปิดโอกาสให้ผลประโยชน์ของทุนนิยมผูกขาดได้ยกระดับเป็นผลประโยชน์ของแห่งชาติ

การหมุนเวลาย้อนกลับของกลุ่มเผด็จการสมคบคิด แม้จะเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่ต้องก้าวข้าม แต่ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นในที่นี้ว่า นอกเหนือการต่อสู้ระหว่างพลังเผด็จการกับประชาธิปไตยในแต่ละขั้นตอนแล้ว (ซึ่งประวัติศาสตร์สังคมโลกก็มีคนเคยยกมาวิวาทะกันแต่ครั้งดาริอุส กรีกโบราณ โรมันยุคสาธารณรัฐ ยุโรปยุคสัญญาประชาคม และมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์ จนถึงปัจจุบัน) พลังประชาธิปไตยของสังคมสยามยามนี้ จะต้องเร่งรัดหาคำตอบเพื่อแหวกวงล้อมทางปัญญาในการออกแบบสังคมที่เปิดทางให้พลังประชาธิปไตยได้ลงรากอย่างยั่งยืนในยุคหลังเผด็จการให้ได้

ข้อเสนอของผู้เขียนในยามนี้คือ พลังประชาธิปไตยสยามจะสามารถตั้งมั่นอย่างแข็งแรงได้ ต้องยกเลิกโครงสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์ภายใต้กรอบปรัชญา”รัฐเดี่ยว” ไปสู่การออกแบบ”สหพันธรัฐสยาม”เท่านั้น

เหตุผลที่ขอนำเสนอเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย
1)   อำนาจรัฐรวมศูนย์ภายใต้แนวทางรัฐใหญ่ สังคมแตกแยก เป็นทั้งเครื่องมือ และเป้าหมายในตัวเองของพลังเผด็จการ เพราะมันคือ”ลูกไม่หล่นไม่ไกลต้น”ที่ เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีเครือข่ายราชสำนักผสมโรงเป็นรัฐซ้อนรัฐ
2)   อำนาจรัฐรวมศูนย์ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างถึงที่สุด ทำให้ความ
อยุติธรรมและเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงขึ้น จากสภาพ”รวยกระจุก จนกระจาย” นอกเหนือจากความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจและการพร่าผลาญทรัพยากรอย่างไร้ทิศทาง
3)   โครงสร้างอำนาจรัฐแบบสหพันธรัฐ (ต้นแบบคือสวิตเซอร์แลนด์) ภายใต้แนวทางรัฐเล็กประสิทธิภาพสูง สามารถประสานและสนองตอบการสร้างสังคมใหญ่ที่ปลอดการครอบงำของทุนผูกขาดและรัฐที่ฉ้อฉล เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกระดับอย่างมีพลวัต และสามารถป้องกันการฟื้นตัวของพลังเผด็จการได้อย่างยั่งยืน

มรดกเลวร้ายของสมบูรณาญาสิทธิราช

          ประวัติศาสตร์ของสังคมสยามทั้งที่เป็นจริงและตำนานแต่ครั้งโบราณยืนยันชัดว่า รัฐสยามครั้งโบราณนั้น ไม่ได้มีการรวมศูนย์เบ็ดเสร็จแบบสมบูรณาญาสิทธิราช เพราะคำอ้างทางทฤษฎีที่อิงเข้ากับศาสนาฮินดูหรือพุทธของกษัตริย์ทั้งหลายที่ว่ากษัตริย์คือเจ้าของแผ่นดินและเจ้าชีวิตของผู้คนนั้น เป็นแค่อุดมคติ ไม่เคยปรากฏเป็นรูปธรรม รัฐสยามโบราณจึงมีลักษณะรวมตัวกันแบบหลวมๆบนระบบการควบคุมมวลชนในสังคมเกษตรกรรม  

ตำนานปรัมปรา และข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ตอกย้ำว่า ในความขัดแย้งระหว่างอำนาจกษัตริย์ในส่วนกลางกับรัฐชายขอบและพลเมืองที่เป็นเลกไพร่นั้น ปวงชนชาวสยามเคยมีวัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และประชาธิปไตย(ในชื่อต่างๆกัน) มายาวนาน (อาทิในตำนานพญาคันคากที่นำไพร่สู้แถน) มิใช่โง่เง่าเต่าตุ่นหรือสยบยอม สามารถที่จะสร้างตำนานขึ้นในประวัติศาสตร์

พลังแห่งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรมของมวลชนสยามในอดีต หาได้เป็นสิ่งแปลกปลอมจากตะวันตก ดังที่เครือข่ายเผด็จการสมคบคิดพยายามกล่าวอ้าง

          การรุกคืบของมหาอำนาจตะวันตกในเอเชีย และสนธิสัญญาบาวริ่ง ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการใหม่ในการยกเครื่องระบบรัฐสยามจากระบบจตุสดมภ์เป็นแบบตะวันตกใน พ..2431 คือต้นธารของการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่รวมศูนย์อำนาจรุนแรง จนกระทั่งระเบิดมาเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองของชนชั้นนำที่มีรากฐานไพร่สามัญในนามของคณะราษฏร พ.ศ. 2475

          กระบวนการรวมศูนย์อำนาจรัฐของสมบูรณาญาสิทธิราชที่ถ่ายทอดมาสู่ปัจจุบันนั้น กระทำพร้อมกันไป 2 ด้านแบบคู่ขนานคือ การรวมศูนย์อำนาจทางการเมือง ผ่านการออกแบบสถาบันการเมืองที่เอื้อให้กับเจตจำนงของพลังเผด็จการ และการรวมศูนย์ทางการปกครองผ่านการออกแบบและกติกาในการทำงานของระบอบรัฐที่ป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก

ความขัดแย้งภายในของแกนนำคณะราษฎร และการฉวยโอกาสตีโต้ของเครือข่ายราชสำนักในยุคสงครามเย็น (ด้วยแรงสนับสนุนเพื่อถ่วงดุลของมหาอำนาจระดับโลก) ได้เปิดช่องให้อำนาจรัฐรวมศูนย์ได้สถาปนาตนสร้างเป็นเครือข่ายชนชั้นนำที่เป็นพลังหลักของอำนาจเผด็จการ และถ่วงรั้งพัฒนาการของพลังประชาธิปไตยเสมอมาจนถึงปัจจุบัน 

ภายใต้โครงสร้างรัฐรวมศูนย์ทั้งการเมืองและการปกครอง(แม้จะมีการเว้นว่างของพลังเผด็จการเป็นบางช่วงจากกระแสสูงของพลังประชาธิปไตย) ชนชั้นนำภาครัฐที่คุ้นเคยกับการผูกขาดได้เสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยมอย่างคงเส้นคงวา เพื่อรักษาพื้นที่ทางอำนาจนำอย่างแน่วแน่ แม้จะปรับเปลี่ยนตัวเองตามสถานการณ์และเงื่อนไขทางสังคมจำเพาะ โดยข้ออ้างคร่ำคร่าคือ ความมั่นคงของรัฐและการปกป้องสถาบันกษัตริย์

ในขณะเดียวกัน นับแต่การเสียสละเลือดเนื้อของประชาชน นิสิตนักศึกษา ในการต่อสู้ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา กษัตริย์และเครือข่ายราชสำนัก (ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ ตุลาการ นักวิชาการ กลุ่มพลังนอกรัฐ สื่อมวลชน คนดีจอมปลอมจากกลุ่มนักสันติวิธี นักสิทธิมนุษยชน ราษฎรอาวุโส นักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มอันธพาลจัดตั้ง ซึ่งมีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางผนึกพลัง) ได้หวนกลับมาช่วงชิงอำนาจนำทางการเมืองกลับคืน ผ่านกระบวนการรัฐซ้อนรัฐอย่างแยบยลและช่ำชอง

เครือข่ายราชสำนัก ได้แทรกตัวเข้าไปในคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลแต่ละชุด เพื่อทำให้กลายเป็นแค่ตลกหน้าม่านของราชสำนัก โดยกษัตริย์ภูมิพลเป็นแกนกลางถักทอกลไก สร้างพันธมิตรผูกขาดอำนาจต่อเนื่อง โดยชักจูงให้สังคมปฏิเสธความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง แล้วให้ยอมรับ แนวทางอำนาจนิยม สนับสนุนประชาธิปไตยจอมปลอมผ่านพรรคประชาธิปัตย์ 

ในหลายปีมานี้ เครือข่ายราชสำนักลุแก่อำนาจมากขึ้น ถึงขั้นสามารถผลักดันแนวทางที่กลุ่มตนเองเสนอเช่น เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิชัยพัฒนา กลายเป็นวาระแห่งชาติ พร่ำสอนให้คนไทยรังเกียจทุนนิยม พร้อมกับวิจารณ์ผู้ประกอบการในระบอบทุนนิยมว่าเลวว่าชั่ว ทั้งที่เครือข่ายราชสำนักได้ทำตนเป็นกลุ่มทุนนิยมอภิสิทธิ์เสียจนรวยล้นฟ้า กษัตริย์ภูมิพลมีชื่อติดอันดับหนึ่งในกษัตริย์รวยที่สุดในโลก ต้องให้บริวารมาออกโรงแก้ตัวเป็นพัลวัน ในขณะที่วิถีการใช้ชีวิตส่วนตัวก็ยิ่งกว่าฟุ่มเฟือยและใช้อภิสิทธิ์อย่างฉาวโฉ่ ไม่อาจปิดบังได้

          ในยุคปัจจุบัน ที่สมบูรณาญาสิทธิราชไม่สามารถหวนคืนอย่างเปิดเผยในชื่อเดิมกลับมาได้อีก การดัดแปลงตัวเองของพลังเผด็จการสมคบคิด ที่นำเสนอในรูปของการส่งมอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ จึงเป็นจุดขายหลักเพื่อสร้างสภาพการเมืองและการปกครองซึ่งลดทอนพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการตัดสินใจ  จึงเป็นความพยายามสืบทอดมรดกเลวร้ายของสมบูรณาญาสิทธิราชโดยพฤตินัยอย่างเต็มเปี่ยม
         
อำนาจรัฐรวมศูนย์คือรากเหง้าของรวยกระจุก จนกระจาย
         
เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป(แม้กระทั่งภายในกลุ่มเผด็จการสมคบคิดบางซีกเอง)ว่า อำนาจรัฐไทยปัจจุบัน ภายใต้แนวทางรัฐเดี่ยวรวมศูนย์เบ็ดเสร็จคือเป็นภาระต้นทุนสังคม และเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง ที่ขัดขวางพัฒนาการุกด้านของสังคม เพราะของเขตของอำนาจรัฐ(ที่มีระบบราชการขนาดมหึมา)ใหญ่เกินสังคม ผสมโรงเข้ากับการสร้างรัฐซ้อนรัฐของเครือข่ายราชสำนัก (ที่มีแต่รับชอบ ไม่ต้องรับผิด) ทำให้อำนาจรัฐกระจุกตัว เป็นแหล่งส้องสุมพฤติกรรมฉ้อฉลสารพัด และไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถสนองความต้องการของมวลชนและประชาชาติได้

          ข้อเท็จจริงที่ว่า ในปัจจุบัน โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ จะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสม ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (รัฐกำหนดทิศทาง เอกชนให้กลไกตลาดทำงาน) ทำให้บทบาทหลักของอำนาจรัฐมีความสำคัญพร้อมกัน คือ 1) ขนาดวงเงินของงบประมาณของรัฐต่อเศรษฐกิจประเทศ (มูลค่าสินค้าและบริการที่ผลิตโดยภาครัฐบาลเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 2) สัดส่วนของของแรงงานของภาครัฐบาลเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งหมดของประเทศ (ข้าราชการและลูกจ้างทุกประเทศที่ปฏิบัติงานของภาครัฐบาล) 3.5ล้านคน เทียบกับประชากร 72 ล้านคน จะเห็นได้ว่า อำนาจรัฐไทยได้สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพอย่างมาก

          ในด้านวงเงินงบประมาณต่อสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี)ของไทยอาจจะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับชาติต่างๆในโลกคือระดับ 27%  แต่ขนาดที่ใหญ่เทอะทะของขนาดแรงงานของภาครัฐบาลอำนาจรัฐประมาณ3.5 ล้านคน ห่างไกลจากจุดหมายที่จะเป็นองค์กรมีสมรรถนะสูง มีความพร้อมและความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่าง ๆมากไปทุกขณะ

          ทุกๆปี การจัดสรรงบประมาณของรัฐไทย ถูกแรงกดดันจากภายในให้เกิดสภาพความไม่เป็นธรรมทางคลัง มีการจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดต่างๆ ที่ไม่สัมพันธ์กับภาระภาษีที่ประชาชนแต่ละท้องถิ่นแบกรับ ตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพ และความสูญเปล่าของการใช้งบประมาณที่นับวันรุนแรงยิ่งขึ้น ดัชนีชี้วัดความไม่สมดุลทางการคลัง(FII-fiscal imbalance index)ของไทยสูงระดับหัวแถวของโลก

          งบประมาณ 2558 ของรัฐบาลเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน วงเงินงบรายจ่ายรวม  2.575 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำหน่วยราชการ 2.02 ล้านล้านบาท หรือ 78% ของงบรวม แปลว่า เหลืออีก 4.5 % เอาไปจ่ายชดเชยเงินคงคลัง จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ จ่ายต้นเงินกู้ ที่เหลือ 17.5% เป็นงบลงทุน ซึ่งถือว่าจำกัดจำเขี่ยอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับข้อเรียกร้องของสังคมและพลเมืองโดยรวม

          เจาะลึกลงไป จะพบว่ากระทรวงที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มสูงที่สุดคือกระทรวงที่นายทหาร คสช.ไปควบคุม เช่น  กระทรวงกลาโหม เพิ่มขึ้นมา 5.03% เป็นเงินทั้งสิ้น 193,065.90 ล้านบาท รองลงมาเป็นกระทรวงศึกษาฯ ที่เพิ่มมา 3.18% เป็นเงิน 498,160.4 ล้านบาท ส่วนกระทรวงที่ถูกลดงบประมาณสูงที่สุดคือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจำนวน -39.87%  กระทรวง ICT จำนวน -39.48%  รองลงมาคือกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังตามลำดับ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประเด็นความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี (เก็บภาษีทางอ้อมมากกว่าภาษีทางตรง)ที่เปิดช่องให้มีการผลักภาระภาษีจากคนรวยไปยังคนยากจนง่ายดายตลอดเวลา เพราะเลือกเก็บจากฐานรายได้ และการบริโภค  เข้าข่ายส่งเสริมภาวะรวยกระจุก จนกระจาย การทำให้เกิดสมดุลในการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมเป็นเพียงการเล่นลิ้นเชิงนโยบาย หรือไม่ก็กระทำในลักษณะ ผักชีโรยหน้าเท่านั้น

การจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม  การใช้งบประมาณของรัฐรวมศูนย์ที่ไม่ก่อให้เกิดการต่อยอดทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม  ความไม่สมดุลทางการคลังว่าด้วยการกระจายความมั่งคั่งผิดที่ผิดทาง เป็นมากกว่าเรื่องประชาธิปไตย และเผด็จการตามปกติ ที่เป็นส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งของปัญหา การต่อสู้ทางการเมือง เพราะรากฐานหลักสำคัญคือ อำนาจรัฐรวมศูนย์ (รัฐบาลกลางใหญ่ครอบรัฐ) ซึ่งทำให้เกิดความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง

ความไม่เป็นธรรมเช่นนี้ นอกจากไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือแม้กระทั่งแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ยังสร้างความปริร้าวให้กับผู้คนในแต่ละพื้นที่ เกิดสภาพที่เปิดช่องให้อำนาจรัฐใช้กลยุทธ์ แบ่งแยกแล้วปกครอง ได้สะดวกยิ่งขึ้น

ข้อเท็จจริงที่เอ่ยมาแค่บางส่วนนี้ สะท้อนชัดว่า เหตุใด ประชาธิปไตยไทยจึงลุ่มๆดอนๆ เพราะการมีรัฐขนาดใหญ่ที่รวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ไม่เพียงแต่คนในท้องถิ่นจะไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางอำนาจแล้ว ยังทำให้สังคมโดยรวมต้องแบกภาระต้นทุนสูงเกินจำเป็น เพราะการจัดการรัฐมีประสิทธิภาพต่ำ และขาดความยืดหยุ่นในกระบวนการทำงาน  ในขณะที่การตัดสินนโยบายจะถือเอาประโยชน์ของรัฐมากกว่าผลประโยชน์ของพลเมือง และท้ายสุด รัฐมีแนวโน้มใช้อำนาจคุกคามเสรีภาพของมวลชนได้ง่าย นับแต่การเก็บภาษีและการสร้างสภาพบังคับทางกฎหมายอย่างเหมารวม

การลดทอนอำนาจรัฐจากศูนย์กลางชนชั้นนำและชนชั้นกลาง กระจายไปสู่ภูมิภาค และท้องถิ่นเพิ่มอำนาจให้พลเมืองทุกชุมชนกำหนดผลประโยชน์ทางทรัพยากร เศรษฐกิจ การศึกษา ในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของตน จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการทำลายล้างอำนาจรัฐรวมศูนย์นี้ทิ้งไป เพื่อเปิดช่องให้กับแนวทางใหม่ เพราะกระบวนทัศน์แนวรวมศูนย์อย่างอนุรักษ์แต่ดั้งเดิมนั้น ไม่มีทางที่จะยินยอมให้เคลื่อนตัวเพื่อในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ก้าวข้ามไปได้

ตราบใดที่ยังไม่สามารถระบุและลงมือแก้ความบกพร่องรากฐานนี้ ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนใต้อำนาจรัฐรวมศูนย์จะเป็นแค่ยูโตเปียหรือละเมอฝันเท่านั้น เพราะการหมุนเข็มนาฬิกากลับไปสู่อำนาจเผด็จการเป็นไปได้เสมอ และง่ายดาย

          ทางเลือกเดียวของประชาธิปไตยสยาม คือ รัฐเล็ก สังคมใหญ่

82 ปีเศษที่ผ่านมา แรงเหวี่ยงระหว่างทางสองแพร่ง คือ รัฐบาลเผด็จการในนามประชาธิปไตยครึ่งๆกลางๆ กับรัฐบาลจากการเลือกตั้งภายใต้ที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ที่โหยหาเสรีภาพ ความเสมอภาค การมีส่วนร่วม และ ความเป็นธรรม ร็สึกเสมือนหนึ่งสังคมกำลังอยู่บนเส้นทางตีบตัน ทั้งที่หากพิจารณาให้รอบด้านแล้ว รูปแบบของรัฐที่เหมาะสมและเป็นประชาธิปไตยในโลกนั้น ไม่ได้มีขีดจำกัดเพียงแค่  2 ทางเลือก

หลังจากที่ได้ใช้เวลาในการทบทวน และใคร่ครวญอย่างรอบคอบ พร้อมกับการเชื้อชวนให้มีการก่อตั้งแนวร่วมจากหลายส่วนเช่น องค์กรเสรีไทย และ อปท.  ผู้เขียนในฐานะตัวแทนของกลุ่มสร้างรัฐสยามให้เป็นสหพันธรัฐ ขอใช้โอกาสนี้นำเสนอการก้าวข้ามทางอุดมการณ์ที่มีความหมายยิ่งต่ออนาคตของประชาชาติในอนาคตเพื่อพ้นจากวัฏจักรชั่วร้ายไปสู่การเมืองและระบอบสังคมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมั่นคง และมวลชนมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม

ขบวนการประชาธิปไตยสยาม จำเป็นต้องมีจินตนาการที่เป็นรูปธรรมสำหรับชี้นำให้ก้าวไปข้างหน้า สร้างแผนที่นำทางเบื้องต้น (โรดแม็ป) สำหรับรัฐสยามในอนาคต ที่สามารถที่ปิดช่องมิให้อำนาจเผด็จการหรืออำนาจรัฐจากการเลือกตั้งหวนกลับมาบ่อนทำลายพลังอำนาจของผู้รักประชาธิปไตย และใช้มวลชนจัดตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม เป็นเครื่องมือในการสร้างสถานการณ์แย่งชิงอำนาจกลับคืนไป

ข้อเสนอของผู้เขียน มุ่งหวังให้ผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายได้สามารถก้าวข้ามทางอุดมการณ์ที่คร่ำครึนี้ ประกอบด้วย

1)   ยอมรับแนวทางของการสร้างความมั่งคั่งภายใต้กลไกทุนนิยม ที่ตั้งบนรากฐานของการสร้างและกระจายทุน 5 ประเภท( ทุนตามธรรมชาติ ทุนทางกายภาพ ทุนทางเทคโนโลยี ทุนสาธารณูปโภค และทุนวัฒนธรรม)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างถ่วงดุลระหว่างความมั่งคั่งของสาธารณะและความมั่งคั่งส่วนบุคคล

2)   ปฏิเสธแนวคิดเรื่องรัฐในระยะเปลี่ยนผ่านของมาร์กซ-เลนิน ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าล้มเหลวจะให้คำตอบที่เหมาะสมในหลายประเทศ ยอมรับแนวทางอื่น เช่น คาร์ล โปลันยี-ฟรีดริช เฮเยก ที่ว่ารัฐกับโครงสร้างเศรษฐศาสตร์การเมืองทุนนิยมเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ควบคู่กัน และ/หรือขัดแย้งกัน จนกว่าจะเกิดโครงสร้างใหม่หลังทุนนิยม (ซึ่งไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้) เพื่อลดทอนขีดจำกัดของเศรษฐกิจการตลาด โดยผ่านกลไกการแทรกแซงของอำนาจรัฐเพื่อให้ทำงานต่อเนื่อง จัดสรรทรัพยากร และแบ่งปันผลประโยชน์ของชนชั้นต่างๆในสังคมและข้ามสังคม

3)   ออกแบบโครงสร้างอำนาจรัฐใหม่ภายใต้แนวทางรัฐเล็กประสิทธิภาพสูง ประสานและสนองตอบสังคมใหญ่อย่างมีพลวัต

รูปแบบรัฐที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมสยามในอนาคต สำหรับผู้เขียนและคณะในขณะนี้ คือ รูปแบบและโครงสร้างรัฐแบบสวิตเซอร์แลนด์ (ศึกษาเพิ่มเติมจากแรงบันดาลใจในข้อเสนอ ศิวะ รณยทธ์, โมเดลสวิส เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมสยาม: กรณีศึกษา เพื่อสร้างสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย, เมษายน 2554 ) เพื่อสร้างสหพันธรัฐสยามให้เป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย

ภายใต้การออกแบบรัฐบนรากฐานชนชาติ ภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ สหพันธรัฐสวิส หรือ Confoederatio Helvetica (CH) ซึ่งตั้งบนฐานรากของโครงสร้างรัฐบาล 3 ระดับ(กลาง แคว้น และเมือง(ชุมชน))

สวิสได้ชื่อว่าประชาชนมีเสรีภาพมากที่สุดประเทศหนึ่ง มีดัชนีความสุขของพลเมืองในระดับหัวแถว ไม่เคยเข้าสู่สงครามใหญ่และเล็กนับตั้งแต่ปี..1848 เป็นต้นมา มีความก้าวหน้าจากทุนนิยมเสรีมากที่สุด มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงกว่าทุกชาติในยุโรปและญี่ปุ่น มีสาธารณูปโภคระดับหัวแถวของโลก ค่าเงินสวิสฟรังก์แกร่งแถวหน้าของโลกและผันผวนต่ำกว่าสกุลอื่นๆ เป็นชาติส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับสองของโลกโดยที่ไม่มีวัตถุดิบในประเทศ เป็นผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำของโลกโดยที่ไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ มีสถาบันการเงินและบริษัทข้ามชาติทางด้านยา เคมีภัณฑ์ และวิศวกรรมมีชื่อเสียงระดับโลกที่ไม่เคยถูกข้อหาเป็นทุนผูกขาด มีบริษัทผลิตเครื่องยนต์สำหรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ระดับโลก โดยที่ไม่มีดินแดนติดต่อกับทะเลแม้แต่น้อย

ความมั่งคั่งข้างต้น ได้นำมาซึ่งความสุขและคุณภาพพร้อมไปด้วย รัฐสวิสได้ชื่อว่ามีธรรมาภิบาลสูงระดับหัวแถวของโลก และดัชนีความสุขของพลเมืองอยู่ในระดับ 1 ใน 5 ของโลกมาตลอดนับแต่จัดทำขึ้นมา

เหตุปัจจัยที่ถือเป็นกุญแจสำคัญของโมเดลสวิสคือ รูปแบบรัฐที่เหมาะสม สร้างเอกภาพที่สอดคล้องกับพลวัตของระบบเศรษฐกิจและกระจายผลประโยชน์ โดยที่ไม่ก็จำเป็นต้องโต้แย้งกับว่าควรจะเป็น สังคมนิยม รัฐสวัสดิการ หรือ ทุนนิยมเสรีหรือโดยรัฐ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.. 1848 ที่ดัดแปลงจากรัฐธรรมนูญ.. 1776 ของสหรัฐฯ

รัฐธรรมนูญเพื่อสร้างสหพันธ์สาธารณรัฐของสวิส ซึ่งได้ข้อสรุปหลังจากผ่านสงครามกลางเมืองและการต่อสู้อันยากลำบากเพื่อให้ได้รูปแบบรัฐที่ต้องการนับครั้งไม่ถ้วน จากรัฐฟิวดัล รัฐขนาดใหญ่แบบสาธารณรัฐ และ สหพันธรัฐ ตลอด 400 ปีเศษจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19

แม้เส้นทางกว่าจะได้มาซึ่งสันติภาพยั่งยืนและเสรีภาพที่เป็นต้นแบบ อาจไม่ต่างจากสังคมอื่น ข้อแตกต่างตรงที่พบความสำเร็จที่ลงตัวยาวนาน โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงในสาระหลัก ถือเป็นความโดดเด่นที่น่าเรียนรู้

โครงการรัฐของสวิส กำหนดให้รัฐบาลส่วนกลางมีอำนาจจำกัด มีคณะรัฐมนตรีแค่ไม่เกิน 15 คน จาก 7 กระทรวง โดยอำนาจของรัฐบาลกลาง ถูกคานอำนาจอย่างซับซ้อนโดยรับสภากลหาง รัฐบาลและรัฐสภาท้องถิ่นของ 22 แคว้น และรัฐบาลท้องถิ่นหลายร้อยแห่งของเมืองและชุมชุน ถูกประกาศใช้ในปี ค.. 1848 ก่อนหน้าที่คาร์ล มาร์กซ และเฟรดริก เองเกลส์จะเขียน แถลงการณ์ชาวคอมมิวนิสต์ อันลือลั่นเสร็จในหลายเดือนต่อมาของปีเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ประชาชนยังสามารถใช้ประชาธิปไตยทางตรง(นอกเหนือจากการชุมนุม)โดยการเรียกร้องให้มีการลงประชามติใน 2 รูปแบบของรัฐบาลจัดการลงประชามติสอบถามความเห็นในเรื่องสำคัญ และประชาชนเกิน 100,000 คนลงชื่อเรียกร้องต่อรัฐสภาให้จัดการลงประชามติ หากรัฐสภามติเห็นชอบ ก็สามารถจัดทำได้

รัฐธรรมนูญ ค.. 1848 นี้ ถือได้ว่าเป็นต้นแบบที่ก้าวหน้าที่สุดของประชาธิปไตยของโลกมาจนถึงปัจจุบัน และมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเพียงแค่ 2 ครั้งภายใต้การลงประชมติคือ การอนุมัติให้สตรีที่มีอายุบรรลุนิติภาวะมีสิทธิเลือกตั้ง สมัครรับเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่าเทียมชาย .. 1971 และการอนุมัติให้สวิสเข้าเป็นสมาชิกภาพของสหประชาชาติ.. 2002 สะท้อนให้เห็นความลงตัวของโครงสร้างทางอำนาจทางการเมืองที่สอดรับกับความต้องการของมวลชน และพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ที่เกิดจากกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ หลากความคิด และต่างวัฒนธรรม

รัฐธรรมนูญที่กระจายอำนาจไว้ชัดเจน ยังได้กระจายความมั่งคั่งทางการคลังจากรายได้และภาษีของรัฐเป็น 3 ส่วนชัดเจนคือ 30%เข้ารัฐบาลกลาง 40% เข้ารัฐบาลแคว้น และอีก 30 %เข้ารัฐบาลเมืองหรือชุมชน

ผลลัพธ์คือ รัฐบาลกลางจะมีขนาดเล็กลงจนมีหน้าที่เพียงแค่บริหารงาน 3 ด้านคือนโยบายความมั่นคง เศรษฐกิจการเงิน และ เทคโนโลยี  

แม้รัฐบาลจะมีขนาดเล็ก แต่ขนาดของกองทัพสวิสซึ่งถูกระบุบทบาทเอาไว้ชัดเจน (มีทหารบ้านมากกว่าทหารประจำการ และห้ามปฏิบัติการต่างประเทศ) ยกเว้นเพื่อมนุษยธรรม ไม่ได้ทำให้เลือดนักสู้ของคนสวิสลดน้อยลง เพราะปัจจุบัน คนสวิสทั้งชายและหญิงที่ขึ้นทะเบียนในกองทัพในรัฐบาลกลาง คิดเป็นจำนวนมากกว่า 40% ของพลเมือง  หรือ มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนในวัยทำงาน สูงเป็นอันดับสองรองลงมาจากอิสราเอลเท่านั้น แต่มีเพียง 5% ของทหารในกองทัพที่เป็นทหารประจำการอาชีพเต็มเวลา ส่วนที่เหลือเป็นทหารเกณฑ์ ทหารอาสา และทหารบ้านของแต่ละแคว้น และชุมชน (ทหารในกองทัพทุกคนได้รับการฝึกฝนให้ใช้อาวุธสมัยใหม่ และมีอาวุธครอบครองในที่อยู่อาศัย โดยที่มีสถิติคดีอาชญากรรมน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก)

โมเดลของรัฐแบบสวิสตอกย้ำข้อเท็จจริงว่า หากรัฐถูกออกแบบให้มีโครงสร้างที่เหมาะสม ให้มีรัฐและระบบการปกครองที่กระจายตัว มีขนาดเล็ก แต่ประสิทธิภาพสูง เอื้อประโยชน์ทั้งสร้างและกระจายความมั่งคั่งภายใต้กลไกภาษีที่เป็นธรรม การมีส่วนร่วมของมวลชนที่เป็นใหญ่ผ่านระบบการเมืองการปกครองที่ยืดหยุ่น ไม่ใช่พรรคการเมืองหรือข้าราชการครอบรัฐเบ็ดเสร็จ ย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่ต้องรอฟ้าประทาน

ประชาธิปไตยแบบสวิส ไม่ได้วัดกันที่ขนาดของคนไปลงบัตรเลือกตั้ง หรือ คุณธรรมส่วนตัวของนักการเมือง แต่เกิดจากรากฐานของฉันทามติร่วมว่าต้องการรัฐเล็กที่มีการถ่วงดุลเหมาะสมโดยไม่จำต้องมีอุดมการณ์ที่ตายตัว และไม่ต้องการลัทธิชาตินิยมคับแคบ แต่เน้นการมีส่วนร่วม และขันติธรรมในความแตกต่าง

คนสวิสถือหลักคิดว่า ประชาธิปไตยในชีวิตประจำวัน มีคุณค่าเกินกว่าการเลือกตั้ง การแย่งชิงอำนาจของกลุ่มหรือพรรคการเมือง หมายถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มีความเชื่อหลากหลายอย่างขันติธรรม เสมอภาค และยุติธรรม ในเรื่องของลัทธิศาสนา ศิลปะวรรณกรรม การศึกษา ทั้งในที่สาธารณะและส่วนตัว หรืกระทั่งในกองทัพ

การเลือกตั้งทั่วไปของรัฐสภาเพื่อไปตั้งรัฐบาลกลาง มีสถิติชัดเจนว่าคนสวิสไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ละครั้งไม่เคยเกินกว่า 35% และรัฐบาลกลางหลังเลือกตั้ง ก็มักจะเป็นรัฐบาลผสมมากกว่ารัฐบาลเสียงข้ามมาก

ขณะที่ การเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นในระดับแคว้น หรือ เมือง หรือเทศบาล มีคนไปใช้สิทธิเฉลี่ยเกิน 90% และรัฐบาลท้องถิ่นก็มีประสิทธิภาพสูง พร้อมกับให้ความร่วมมือกับรับบาลกลางผ่านกระบวนการหารือโดยเฉพาะในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่จำเป็น

ผลพวงของการมีโครงสร้างรัฐเล็กในสังคมที่พลเมืองมีส่วนร่วมอย่างยืดหยุ่น ทำให้สวิสมีระบอบเศรษฐกิจและกระจายผลประโยชน์ที่ลงตัว มีบริษัทข้ามชาติในระดับโลก โดยไม่ถูกข้อกล่าวหาในประเทศว่าเป็นทุนผูกขาด ในขณะที่ขันติธรรมทางการเมือง ทำให้การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ก็ลดความเข้มข้นลงโดยไม่กระทบต่อพัฒนาการทางปัญญาอื่นๆของสมาชิกในสังคม

ข้อเสนอนี้ของผู้เขียน อาจจะมาก่อนกาล ซึ่งผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย อาจเรียกว่าเป็นข้อเสนอแบบ “ยังไม่เห็นน้ำ รีบตัดกระบอก” หรือเป็นแค่ Dream of Scipio (ฝันกลางวันของคิเคโร่) แต่แผนที่นำทางนี้ (ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยจากเบื้องบนอย่างแน่นอน) หากได้รับการพิจารณา ย่อมถือเป็นข้อเสนอที่สำคัญในการชี้ทางออกของสังคมหลังยุคเผด็จการที่มีความยั่งยืนสูงสุด เพราะได้ผ่านการพิสูจน์เชิงรูปธรรมมาแล้วกว่า 160 ปี

ตราบใดที่ เป้าหมายของสังคมที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมในความมั่งคั่ง ยังไม่ปรากฏเป็นจริง เราไม่ควรจำกัดตัวเองที่จะฝันถึงสังคมที่ดีกว่าในอนาคต มิใช่หรือ


ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนขอย้ำว่า ข้อเสนอนี้ ยังมีประเด็นคั่งค้างให้พิจารณาหาข้อยุติ ทั้งทางอุดมการณ์ และจัดตั้งกันอีกมากมาย อาทิ การสร้างหลักประกันรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกระดับภายใต้กรอบสัญญาประชาคมและนิติธรรม เพื่อให้สังคมสยามหลังยุคเผด็จการเป็นสังคมเปิด มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย โปร่งใส และกระตุ้นศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ของพลเมือง ซึ่งจะกล่าวถึงในโอกาสต่อๆไป เท่าที่เงื่อนไขจะเปิดให้








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น