วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561

ความสูญเปล่าเจือยาพิษ : บทวิพากษ์ อปท. ฉันมิตร

ศิวา มหายุทธ์ 

มกราคม 2561


   ปฏิกิริยาแรกสุดของผู้เขียน เมื่อได้อ่าน "สาส์นถึงประชาชนเนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2561" เผยแพร่โดย องค์การเพื่อประชาธิปไตยไทย (อปท.) เมื่อวันที่ ​​​​​​​1 มกราคม พ.ศ. 2561 คือคำถามว่า 1) นี่เป็นเอกสารชี้นำทางการเมืองหรือไม่? 2) ถ้าไม่(เพราะอ้างว่า เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน)ทำไมจึงมีลักษณะเช่นนี้ ว่างกันมากหรืออย่างไร? 3)  ถ้าใช่ ทำไมจึงน่าเวทนาในการนำเสนอที่อ่อนด้อยทั้งทางพื้นฐานทางปัญญา และ ข้อเสนอเช่นนี้?
ต่อมา มีมิตรสหายในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยบอกย้ำว่า มีคนนำเอกสารดังกล่าวไปเผยแพร่ และใช้อ้างอิงกันค่อนข้างแพร่หลายกันพอสมควร จึงเห็นว่า จำต้องออกมาแสดงท่าทีกันแบบฉันมิตรที่ตรงไปตรงมาบ้าง ก่อนที่กระแสความหลงผิดจะเตลิดไปไกลเสมือน"ว่าวสายป่านขาด"จนกู่ไม่กลับ
เอกสารนี้ เริ่มต้นด้วยคำว่า การปฏิวัติประเทศไทย พร้อมกับตามมาด้วยสูตรสำเร็จของการวิเคราะห์สภาพสังคมไทย ก่อนจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการเมืองเพื่อการต่อสู้รูปธรรม
โดยไม่ได้เน้นย้ำว่าแนวทางไหนที่เหมาะสมกับทิศทางของการต่อสู้ 
แม้เอกสาร อปท. จะมีการเรียบเรียงหัวข้อที่สะเปะสะปะอย่างมาก แต่สามารถจับใจความได้ออกมา ดังต่อไปนี้ 







     จากสาระที่วิเคราะห์ให้กระชับของเอกสาร อทป.ข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า แม้จะใช้ความพยายามใช้ท่าทีวิพากษ์ฉันมิตรมากเพียงใด ก็ไม่สามารถสรุปเป็นอื่นได้ว่า เอกสารของ อปท.ที่เผยแพร่ออกมานี้ มีสภาพเป็น"ความสูญเปล่าเจือยาพิษ"ต่อขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสยามอย่างแท้จริง เพราะหากใช้มาตรวัดแบบอันโตนิโอ กรัมชี่แล้ว ถือว่าสาระของเอกสาร นอกจากไม่สามารถก้าวข้าม”สงครามทางอุดมการณ์(และวัฒนธรรม)" ยังไม่สามารถก้าวข้าม"สงครามขับเคลื่อนทางการจัดตั้ง"ได้แม้แต่น้อย ย้อนแย้งอย่างสิ้นเชิงกับข้อเรียกร้องท้ายเอกสารที่เสนอให้"สรุปบทเรียน สามัคคีกัน สนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมกันต่อสู้และผลักดันให้สถานการณ์การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม ก้าวรุดหน้าไปอีกก้าวใหญ่"

ผู้เขียนขอชี้อย่างย่นย่อว่า เอกสาร 1 มกราคม 2561 ของ อปท. มีจุดบกพร่องร้ายแรง 7 ประการ คือ

1) ไม่รอบรู้สถานการณ์ของเศรษฐศาสตร์การเมืองระดับโลกที่หลายปีมานี้ มีพลวัตสูงยิ่ง จนไม่สามารถใช้มุมมองและข้อสรุปแบบในยุคสงครามเย็นได้อีก การกล่าวถึงภัยร้ายของจักรวรรดินิยมอเมริกาโดยไม่พูดถึงจีนเลย ถือเป็นความไร้เดียงสา หรือ เจตนาเบี่ยงเบนทางทฤษฎี ที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของข้อเสนอ
2) ขาดความแม่นยำทางทฤษฎีโดยพื้นฐาน ไม่สามารถวิเคราะห์ความขัดแย้งพื้นฐาน–ความขัดแย้งหลัก-ความขัดแย้งรอง ได้กระจ่างชัด ผลลัพธ์คือเกิดสภาพ”มองเห็นต้นไม้ แต่ไม่เห็นป่า”โดยปริยาย
3) ประเมินอำนาจของทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ (ทุนกษัตริย์)สูงเกินไป จนมองข้ามพลังอื่นๆของ”โต๊ะแชร์ทางผลประโยชน์ทางอำนาจอนุรักษ์นิยม” ที่เอื้อประโยชน์และประสานกันเป็นแนวร่วมเผด็จการสมคบคิด (เช่น ทุนผูกขาด ทุนสัมปทาน เทคโนแครตที่เป็นชนชั้นนำภาครัฐ และกลุ่มพลังที่ซ่อนตัวหาประโยชน์ใต้เครือข่าย) ภายใต้สถานการณ์ที่สมบูรณาญาสิทธิราชไม่สามารถหวนคืนอย่างเปิดเผยดังในรูปแบบของอดีต
4) ความไม่สามารถก้าวข้ามสงครามอุดมการณ์ ทำให้ความพยายามขับเคลื่อนสงครามทางการจัดตั้งด้วยการนำเสนอหนทาง ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี เต็มไปด้วยความสับสน และย้อนแย้งกันในตัวเอง
5) ที่มาของข้อสรุปอย่างรวบรัดว่า ขั้นตอนของการต่อสู้ในปัจจุบัน ถือเป็น การปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน ยังคงเป็นไปตามจารีตเดิมของแนวคิดเหมา เจ๋อ ตง ที่พ้นยุค เพราะไม่ได้มีการประเมินรากเหง้า สถานภาพ และ”จิตสำนึกเทียม”ของชนชั้นนายทุนไทย และโดยเฉพาะพันธมิตรสำคัญอย่างชนชั้นกลางในเขตเมืองใหญ่ ที่มีความโน้มเอียงยึดติดในความมั่นคงปลอดภัยทางจิตใจและสถานภาพทางสังคมที่คุ้นเคยกับระบบสายสัมพันธ์เดิมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมและอำนาจรัฐ ถึงขั้นพร้อมปฏิเสธการขับเคลื่อนต่อสู้ของขบวนแถวประชาธิปไตยได้เมื่อจำเป็น
6) ยุทธวิธี “ลุกขึ้นสู้พร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อสถานการณ์สุกงอม” ซึ่งเป็นรูปแบบการต่อสู้ปฏิวัติที่ อปท.สรุปว่า “เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน” นอกจากไม่สามารถพิสูจน์ไดว่าจะเป็นจริงได้อย่างไรกับการ ”กินข้าวทีเดียวหมดทั้งหม้อ” ยังเป็นการหวนกลับไปพึ่งพายุทธวิธีแบบทร็อตสกี้ อันสุ่มสี่ยงต่อการถูกทำลายยิ่ง (ปฏิเสธกองกำลังติดอาวุธ ปฏิเสธการต่อสู้สันติวิธี แต่เน้นการจัดตั้งมวลชนในเขตเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ให้การศึกษาแบบซุ่มซ่อนยาวนาน จนกระทั่งถึงเวลาก็ลุกฮือขึ้นต่อสู้โดยไม่ต้องวางแผนทั่วไป หรือไม่ต้องมีการชี้นำจากองค์กรจัดตั้งที่เป็นพรรคนำ แต่อาศัยอาศัยความแม่นยำกว่าทางทฤษฎีของกลุ่มจัดตั้ง ไปช่วงชิงการนำมวลชน) ที่ถูกเรียกว่า “ลัทธิลุกขึ้นสู้แบบเป็นไปเอง” หรือ “ลัทธิชุมนุมสำแดงกำลังโดยไม่ต้องจัดตั้ง” ซึ่งในโลกนี้มีอยู่น้อยมากที่จะประสบความสำเร็จ หรือหากสำเร็จชั่วคราว (แบบการลุกฮือของนักศึกษาไทย 14 ตุลาคม 2516 หรือ นักศึกษาปารีส ค.ศ.1968 หรือ อาหรับสปริงส์) ก็ถูกปล้นชิงกลับไปได้อย่างง่ายดาย (เว้นเสียแต่ว่า อปท.สร้างข้อเสนอนี้ เพื่ออำพรางพฤติกรรมของกลุ่มตนที่เน้น”ซุ่มซ่อนยาวนาน รอคอยโอกาส จนไม่เคยมีโอกาส” ก็เป็นเรื่องที่ต้องแยกว่ากันต่างหาก)
7) ขาดการนำเสนอรูปแบบรัฐที่จะสถาปนาขึ้นหลังจากการต่อสู้แล้วได้รับชัยชนะอย่างชัดเจนในฐานะเป้าหมายของรัฐที่ดีกว่าปัจจุบัน
ผู้เขียนขอย้ำข้อเสนออีกครั้ง(หลังจากเคยนำเสนอในหัวข้อเมื่อหลายปีก่อน ทางเลือกรัฐสยามหลังเผด็จการ : ข้อเสนอเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน, 2559)ว่า ความพยายามดิ้นรนหมุนเวลากลับย้อนไปสู่สภาพประชาธิปไตยครึ่งใบ เพื่อออกแบบประเทศในนามของ การปฏิรูปประเทศ ของบรรดาแนวร่วมเผด็จการสมคบคิด ที่มีเครือข่ายราชสำนักเป็นแกนนำ เป็นการทวนกระแสประวัติศาสตร๋ และเดินสวนทางกับข้อเท็จจริงของสังคม เศรษฐกิจและพัฒนาการที่ได้ยกระดับเป็นประเทศที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการมีบทบาทสูงกว่าภาคเกษตรเด็ดขาด และเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจเปิดกว้างเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก พร้อมกับโครงสร้างประชากรก็มีพลวัต เรียกร้องการกระจายอำนาจในนโยบายสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ จะไม่มีวันบรรลุเป้าหมายได้เลย เพราะเหตุผลหลัก 2 ประการ
1) อำนาจรัฐรวมศูนย์ภายใต้ แนวทางรัฐใหญ่ สังคมแตกแยก เป็นทั้งเครื่องมือ และเป้าหมายในตัวเองของพลังเผด็จการ เพราะมันคือ”ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น”ที่ เป็นมรดกชั่วของสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีเครือข่ายราชสำนักผสมโรงเป็นรัฐซ้อนรัฐ
2) อำนาจรัฐรวมศูนย์ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างถึงที่สุด ทำให้ความอยุติธรรมและเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงขึ้นเป็น”รวยกระจุก จนกระจาย” นอกเหนือจากความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจและการพร่าผลาญทรัพยากรอย่างไร้ทิศทาง

ผู้เขียนขอยืนยันว่า ประวัติศาสตร์ของสังคมสยามทั้งที่เป็นจริง และตำนานแต่ครั้งโบราณยืนยันชัดว่า รัฐสยามครั้งโบราณ ไม่ได้ และไม่เคยมีการรวมศูนย์เบ็ดเสร็จแบบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่รวมตัวกันแบบหลวมๆบนระบบการควบคุมมวลชนในสังคมเกษตรกรรม  แม้จะใช้คำอ้างทางทฤษฎีที่อิงเข้ากับศาสนาฮินดูหรือพุทธ ที่ว่ากษัตริย์ คือเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิตของผู้คน ก็เป็นแค่อุดมคติ ไม่เคยปรากฏเป็นรูปธรรม  
ความจริงแล้ว สมบูรณาญาสิทธิราช เป็น”สิ่งแปลกปลอมจากกัมพูชาโบราณในนามลัทธิเทวราชา” ที่สร้างความขัดแย้งพื้นฐานระหว่างอำนาจกษัตริย์ในส่วนกลางกับรัฐชายขอบและพลเมืองที่เป็นเลกไพร่มาตลอด ก่อนที่ยุคของการรุกคืบของมหาอำนาจตะวันตกในเอเชีย และสนธิสัญญาบาวริ่ง ทำให้เกิดกลายพันธุ์เป็นต้นธารของสมบูรณาญาสิทธิราช ที่รวมศูนย์อำนาจรุนแรง แต่มีอายุแสนสั้น
แม้หลายปีมานี้ เครือข่ายราชสำนักจะสามารถลุแก่อำนาจ ถึงขั้นผลักดันแนวทางที่กลุ่มตนเองเสนอเช่น เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิชัยพัฒนา ให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ พร่ำสอนให้คนไทยรังเกียจทุนนิยม พร้อมกับวิจารณ์ผู้ประกอบการในระบอบทุนนิยมว่าเลวว่าชั่ว ทั้งที่เครือข่ายราชสำนักได้เป็นกลุ่มทุนนิยมอภิสิทธิ์เสียจนรวยล้นฟ้า และมีวิถีการใช้ชีวิตส่วนตัวยิ่งกว่าฟุ่มเฟือยและใช้อภิสิทธิ์ฉาวโฉ่ แต่ก็ไม่สามารถหวนคืนอย่างเปิดเผยอย่างเป็นทางการให้สมบูรณาญาสิทธิราชในชื่อเดิมกลับมาได้อีก แม้โดยพฤตินัยจะสามารถแย่งชิงเป็นแกนนำในแนวร่วมเผด็จการสมคบคิดได้อย่างมั่นคง เพื่อรักษาพื้นที่ทางอำนาจนำในรัฐรวมศูนย์ขนาดใหญ่ โดยข้ออ้างคร่ำคร่า(ที่ยังมีพลังหลงเหลืออยู่)คือ ความมั่นคงของรัฐ และการปกป้องสถาบันกษัตริย์

รัฐรวมศูนย์ขนาดใหญ่ภายใต้แนวร่วมเผด็จการสมคบคิด ไม่เพียงแต่ทำให้สังคมโดยรวมต้องแบกภาระต้นทุนสูงเกินจำเป็น เพราะการจัดการรัฐมีประสิทธิภาพต่ำ เป็นแหล่งส้องสุมพฤติกรรมฉ้อฉลสารพัด และขาดความยืดหยุ่นในกระบวนการทำงาน  ในขณะที่การตัดสินนโยบายจะถือเอาประโยชน์ของรัฐมากกว่าผลประโยชน์ของพลเมือง และใช้อำนาจคุกคามเสรีภาพของมวลชน นับแต่การเก็บภาษีและการสร้างสภาพบังคับทางกฎหมายอย่างเหมารวม กระทั่งประชาชนพลเมืองทุกระดับไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินนโยบายสาธารณะเลย

เงื่อนไขสำคัญที่ต้องเน้นย้ำกันในที่นี้คือ ชัยชนะเหนือแนวร่วมเผด็จการสมคบคิด ที่มีเครือข่ายราชสำนักเป็นแกนนำ จะเกิดขึ้นได้ พลังอันงดงามของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะต้องเร่งรัดหาคำตอบเพื่อแหวกวงล้อมทางปัญญาในการออกแบบสังคมที่เปิดทางให้พลังประชาธิปไตยได้ลงรากอย่างยั่งยืนในยุคหลังเผด็จการ ด้วยการยกเลิกโครงสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์ภายใต้กรอบปรัชญา”รัฐเดี่ยว” ไปสู่”สหพันธรัฐสยาม” เท่านั้น

ข้อเสนอของผู้เขียนที่ผ่านการตกผลึกแล้ว ตอกย้ำว่า โครงสร้างอำนาจรัฐแบบสหพันธรัฐ (ต้นแบบคือสวิตเซอร์แลนด์) ภายใต้แนวทางรัฐเล็กประสิทธิภาพสูง สามารถประสานและสนองตอบการสร้างสังคมใหญ่ที่ปลอดการครอบงำของทุนผูกขาดและรัฐที่ฉ้อฉล เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกระดับอย่างมีพลวัต และสามารถป้องกันการฟื้นตัวของพลังเผด็จการได้อย่างยั่งยืน และ ลบล้างมรดกร้ายของสมบูรณาญาสิทธิราชได้อย่างหมดจด ปิดหนทางฟื้นกลับมาของ แนวร่วมเผด็จการสมคบคิด ที่มีเครือข่ายราชสำนักเป็นแกนนำ

ในที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอจินตนาการที่เป็นรูปธรรม ด้วยแผนที่นำทาง(โรดแม็ป) สำหรับรัฐสยามในอนาคต ที่สามารถที่ปิดช่องมิให้อำนาจเผด็จการหรืออำนาจรัฐจากการเลือกตั้งสร้างสถานการณ์แย่งชิงอำนาจกลับคืนไป ประกอบด้วย
1) ยอมรับแนวทางของการสร้างความมั่งคั่งภายใต้กลไกทุนนิยมเสรี ที่ตั้งบนรากฐานของการสร้างและกระจายทุน 5 ประเภท (ทุนตามธรรมชาติ ทุนทางกายภาพ ทุนทางเทคโนโลยี ทุนสาธารณูปโภค และทุนวัฒนธรรม)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีดุลยภาพระหว่างความมั่งคั่งของสาธารณะ และความมั่งคั่งส่วนบุคคล
2) ปฏิเสธแนวคิดเรื่องรัฐในระยะเปลี่ยนผ่านของมาร์กซ-เลนิน แต่หันมาเปิดทางเลือกใหม่ให้แนวทางอื่น ที่ออกแบบให้โครงสร้างรัฐกับเศรษฐศาสตร์การเมืองทุนนิยมดำรงอยู่ควบคู่กัน เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากร และแบ่งปันผลประโยชน์ของชนชั้นต่างๆในและข้ามสังคม มีประสิทธิผล
3) ออกแบบโครงสร้างอำนาจรัฐใหม่ภายใต้แนวทางรัฐเล็กที่”ประสิทธิภาพสูง ประสานและสนองตอบ”สังคมใหญ่อย่างมีพลวัต
4) กำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ “เอกภาพในความหลากหลาย” ที่ยึดมั่นกับการ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ” ให้มีการจัดตั้งและการกำหนดยุทธวิธีเป็นอิสระและพึ่งตนเองของหน่วยการต่อสู้ในทุกเวทีที่เป็นไปได้ ภายใต้สถานการณ์รูปธรรมที่เป็นจริง เพื่อเรียนรู้และยกระดับการจัดตั้งให้เหมาะสมและยืดหยุ่น แต่ประสานกับพื้นที่ต่างๆ จะช่วยกันขับเคลื่อนดำเนินการรุกทางการเมืองรอบด้าน พร้อมกับสั่งสมประสบการณ์การต่อสู้ (เศรษฐกิจ การชุมนุมเรียกร้อง การระดมสมาชิก หรือสร้างแนวร่วม รวมทั้งการยกระดับจิตสำนึกของผู้เข้าร่วมขบวน) เพื่อสร้างแนวร่วมประชาชาติประชาธิปไตย นำไปสู่การสร้างสหพันธรัฐสยามขึ้นในอนาคตที่มีสภาพ”รัฐเล็ก สังคมใหญ่” ที่ไพบูลย์มั่งคั่งยั่งยืน และมีความหลากหลายในการสร้างศักยภาพให้แก่ประชาชนพลเมืองเต็มภาคภูมิ