ศิวา มหายุทธ์
16 กุมภาพันธ์ 2558
ข้อเสนอของผู้เขียนและคณะในเรื่อง สหพันธรัฐสยาม (ทางเลือกรัฐสยามหลังเผด็จการ ข้อเสนอเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน, มกราคม 2558) ได้รับปฏิกิริยาและคำถามค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ และตอกย้ำว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับรูปธรรมในปัจจุบันและอนาคต
ครั้งนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ตอกย้ำว่า ข้อเสนอดังกล่าวมิใช่ฝันกลางวันที่เลื่อนลอย แต่เกิดจากการศึกษาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์สยามที่บ่งชี้ชัดแล้วว่า ก่อนการสร้างอำนาจรัฐแบบ”มณฑล”(Mandala Cosmology) ตามคติฮินดูและพุทธของอินเดีย และ รัฐชาติเดี่ยวรวมศูนย์แบบตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา สังคมสยามได้มีรูปแบบการปกครองทั้ง สมาพันธรัฐ หรือ สหพันธรัฐ ปะปนมานานนับพันปี
สำหรับนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ที่ทำการค้นคว้าประวัติศาสตร์ของรัฐในภูมิภาคอุษาคเนย์(Southeast Asia) ได้มีฉันทามติแล้วว่า ก่อนการเข้ามาของรูปแบบอำนาจรัฐจากอินเดียนั้น มีรูปแบบรัฐ 3 แบบที่ตั้งมั่นอยู่ในอุษาคเนย์มายาวนานแล้ว ได้แก่
• นครรัฐบนที่ราบลุ่มริมแม่น้ำในหุบเขา(agrarian city states along the valleys) เช่นล้านช้าง และ ล้านนา
• นครรัฐบนพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำ (agrarian city states along the river deltas)เช่น ศรีทวาราวดี
• นครรัฐการค้าชายฝั่งทะเล (maritime city states)เช่น ศรีวิชัย
รัฐทั้งสามรูปแบบข้างต้น สร้างความสัมพันธ์เชิงเครือข่าย ทั้งต่อสู้กันเอง และ/หรือ ร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอด มายาวนาน ใกล้เคียงกับรูปแบบที่ปัจจุบันเรียกว่า สมาพันธรัฐ อย่างชัดเจน
เมื่อนครรัฐโบราณเหล่านี้ ได้เริ่มต้นรับเอารูปแบบของการสร้างอำนาจรัฐแบบมณฑลของฮินดูและพุทธ มาปรับใช้กระบวนการสร้างรัฐแบบรวมศูนย์อำนาจก็เกิดขึ้น เพื่อเชื่อมร้อยนครรัฐต่างๆ โดยแกนกลางของศูนย์อำนาจส่วนกลางตามโครงสร้างจักรวาลวิทยา ที่มีราชธานีเป็นศูนย์กลาง ดึงเมืองบริวารต่างๆเข้ามาในมณฑล
อำนาจรัฐแบบมณฑลยุคแรกเริ่มในสังคมสยามตั้งแต่ครั้งศรีทวารวดี ยังมีโครงสร้างแบบสมาพันธรัฐซึ่งเหมาะสมกับสภาพความแตกต่างทางชาติพันธุ์ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรม และภูมิศาสตร์การเมืองอย่างเหมาะสม
ในอาณาจักรล้านนา นครรัฐบนที่ราบลุ่มริมแม่น้ำในหุบเขา ได้รวมตัวกันอย่างหลวมๆในลักษณะของสมาพันธรัฐของหัวเมืองที่เป็นอิสระต่อกัน ปรากฏชัดเจนในหัวเมืองตามแอ่งเขาต่างๆ
ข้อตกลงสร้างรัฐพันธมิตรอันโด่งดังของ 3 พ่อขุน(รามกำแหง งำเมือง และ มังราย)สะท้อนรูปแบบของรัฐสยามครั้งโบราณที่ชัดเจน
รัฐปัตตานี เคยเป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเอง มีสายสกุลปกครองยาวนานในรูปพันธมิตรรัฐที่เจ้าครองเมืองนับถือมุสลิมมายาวนาน
เมื่อราชธานีกระชับอำนาจรวมศูนย์เข้มข้นขึ้น เพื่อควบคุมกำลังคนทำการเกษตรและการค้า รูปแบบสมาพันธรัฐจึงถูกทำลายลง แต่การกระชับอำนาจ เข้มข้นเฉพาะแค่ทางทฤษฎีเท่านั้น ในทางปฏิบัติ อำนาจของราชธานีเข้มข้นเฉพาะแค่ศูนย์กลาง แต่เจือจางตามระยะทางจากเขตเมืองหลวง เกิดเป็นโครงสร้าง"รัฐแสงเทียน"(candle-light city states) ซึ่งมีส่วนผสมของระบอบสหพันธรัฐที่เป็นรูปธรรม
รัฐสยามยุคโบราณ ที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงยุคกรุงศรีอยุธยาในสมัยกษัตริย์บรมไตรโลกนาถ รับเอารูปแบบรัฐแบบลัทธิเทวราชาของฮินดูแห่งกัมพูชามาผสมกับธรรมราชาของพุทธเพื่อรวมศูนย์อำนาจ จำต้องปล่อยให้มีหัวเมืองเป็นหลายระดับ เป็นหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก(ต่อมาเปลี่ยนเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี จัตวา) และเมืองประเทศราช
เจ้าผู้ครองเมืองประเทศราช มีอำนาจปกครองอาณาจักรตนเต็มที่ แต่มีหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ที่ต้องส่งเครื่องบรรณาการถวายตามกำหนด และในยามศึกสงครามต้องส่งกองกำลังเข้าช่วยกองทัพราชธานี คล้ายคลึงกับรัฐในอารักขาของจักรวรรดินิยมตะวันตก และมีตัวอย่างมากมายที่ระบุว่า เมืองประเทศราชหลายแห่งมีสัมพันธภาพทำนองเดียวกันกับราชธานีหลายแห่งพร้อมกันในลักษณะ”นกหลายหัว” ไม่ได้มีความภักดีต่อรัฐเดียวเบ็ดเสร็จ
นอกจากนั้น รัฐที่ตั้งตนเป็นราชธานีใหญ่ ก็ยังยอมตนเสมือนเมืองประเทศราชให้รัฐอื่นที่ใหญ่กว่า เช่น รัฐสยามในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการ”จิ้มก้อง”ให้กับราชสำนักจีน(ทั้งยุคหยวน หมิง และชิง)เพื่อหวังผลทางการค้า ต่อเนื่องหลายศตวรรษ ทั้งที่ประกาศตนยิ่งใหญ่เป็นเจ้าชีวิตหรือสมมติเทพในปริมณฑลแห่งอำนาจของตน
เมืองประเทศราชหรือรัฐแสงเทียนในสยามโบราณ ได้สร้างตำนานและวัฒนธรรมของสังคมสยามที่ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์และความเชื่อ เรื่องราวที่ส่งผ่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตำนานศาสนา หรือ นิทานพื้นบ้านมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นประจักษ์พยานของรูปแบบรัฐท้องถิ่นโบราณอย่างลึกซึ้ง
มีหลักฐานทางมานุษยวิทยาจำนวนมาก ยืนยันว่า ราชธานีสยามโบราณ ยังไม่ได้มีอำนาจเหนือชุมชนอิสระขนาดเล็กที่กระจัดกระจายตามภูเขา หรือ ดินแดนอันห่างไกล (อาจจะรวมถึง ชุมโจร ในบางพื้นที่) ที่ปฏิเสธรูปแบบการครอบงำของรัฐและอารยธรรมภายนอกทุกชนิด พร้อมสร้างพื้นที่เพื่อชีวิตตามทัศนะของพวกเขาเอง
เมื่ออำนาจรัฐสยามโบราณล่มสลายไป รัฐแสงเทียนและชุมชนอิสระเหล่านี้ ถูกกวาดต้อนเข้ามาภายใต้โครงสร้างรัฐชาติเดี่ยวแบบตะวันตก ที่ถูกออกแบบขึ้นในยุคล่าอาณานิคม และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งกระชับอำนาจของราชธานีเดิมเพื่อสร้างรัฐสมัยใหม่ตอบโต้การคุกคามของตะวันตก
การผนวกอำนาจอย่างเข้มข้นของอำนาจส่วนกลางของรัฐสยาม(ที่เปลี่ยนมาเป็นรัฐไทยปัจจุบัน) เริ่มตั้งแต่การปฏิรูป พ.ศ. 2430 (ค.ศ. 1887)ภายใต้แนวคิด”รัฐชาติเดี่ยว” ได้ทำลายอำนาจและอิสรภาพของหัวเมืองท้องถิ่นจนหมดสิ้น กลายเป็นพื้นที่อำนาจส่วนกลางเบ็ดเสร็จ
รัฐชาติเดี่ยวสยามหลัง พ.ศ. 2430 ได้ทำลายรูปแบบสมาพันธรัฐและสหพันธรัฐแบบจารีตจนไม่เหลือหรอ องคาพยพของรัฐ กลายสภาพเป็นเครือข่ายอำนาจของรัฐส่วนกลางราบคาบ ไม่สามารถสนองตอบความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษา และเจตจำนงท้องถิ่นได้แม้แต่น้อย
โครงสร้างรัฐแบบสหพันธรัฐร่วมสมัยของรัฐสยามที่ผู้เขียนและคณะนำเสนอ จะเป็นประโยชน์และให้คำตอบที่เหมาะสมพร้อมกัน 2 ด้านเลยทีเดียวคือ 1) การจัดรูปขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในยุทธศาสตร์และยุทธวิธี 2) หลังจากขบวนการประชาธิปไตยได้รับชัยชนะแล้ว สร้างรัฐที่อำนวยให้เกิดบูรณาการของประชาธิปไตย (ยุติธรรม เสรีภาพ เสมอภาค และกระจายอำนาจ) ได้ยั่งยืนกว่า
ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการ กลุ่มผู้ร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของสยาม ยังมีความแตกต่างหรือขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์และทฤษฎีที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่ จนกระทั่งยากที่จะก่อรูปขึ้นมาเป็นองค์กรนำขนาดใหญ่ที่มีเอกภาพได้ จำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ” ให้มีการจัดตั้งเป็นอิสระและพึ่งตนเองของหน่วยการต่อสู้ในทุกเวที ภายใต้สภาพที่เป็นจริงของแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะเรียนรู้ ยกระดับการจัดตั้งแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมและยืดหยุ่น ผ่านการพึ่งตัวเอง
การจัดตั้งอย่างเป็นอิสระและพึ่งตัวเองในแต่ละพื้นที่ แต่ประสานกับพื้นที่ต่างๆ จะช่วยให้ขบวนการประชาธิปไตยสยาม ดำเนินการรุกทางการเมืองภายใต้สถานการณ์ที่เป็นจริง พร้อมกับสั่งสมประสบการณ์การต่อสู้ในทุกด้าน(เศรษฐกิจ การชุมนุมเรียกร้อง การระดมสมาชิก หรือสร้างแนวร่วม รวมทั้งการยกระดับจิตสำนึกของผู้เข้าร่วมขบวน) เพื่อสร้างแนวร่วมประชาชาติประชาธิปไตย
การจัดตั้งแบบสหพันธรัฐในระหว่างการต่อสู้ จะปูทางให้เกิดสภาพของสหพันธรัฐในทางปฏิบัติ โดยเบื้องต้นสามารถแบ่งกลุ่มอย่างหยาบๆ ได้ 6 กลุ่มดังนี้ คือ 1) ภาคเหนือตอนบน 2) ภาคเหนือตอนล่าง 3) ภาคอีสานเหนือ 4) ภาคอีสานใต้ 5) ภาคตะวันออก 6) สามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งจะทำให้เกิดการการเชื่อมร้อยอดีตเข้ากับปัจจุบันและอนาคตอย่างแนบเนียนไร้รอยตะเข็บ
ส่วนพื้นที่อื่นเช่นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง และภาคใต้ที่ไม่ใช่สามจังหวัดนั้น เนื่องจากอยู่ใกล้และอยู่ใต้อิทธิพลเข้มข้นของศูนย์อำนาจรัฐเดิมอย่างมาก ในระหว่างการต่อสู้อาจจะไม่สามารถจัดตั้งขบวนต่อสู้ได้อย่างเปิดเผย จึงไม่ได้ระบุถึงรูปธรรมของขบวนการที่ชัดเจน จนกว่าเมื่อได้ชัยชนะเหนืออำนารัฐเผด็จการเดิมไปแล้ว ก็ถือเป็นภารกิจของมวลชนในพื้นที่ดังกล่าวจะเลือกเอารูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่เอง
กลุ่มจัดตั้งดังกล่าว สามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นกลับมาประยุกต์ใช้อย่างมีพลัง แสดงความเคารพต่อเกียรติและศักดิ์ศรีของพลเมืองในทุกภาคส่วน เป็นการปูทางสร้างรัฐแบบเครือข่ายขึ้นมาแทนที่รัฐชาติเดี่ยว ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของมวลชนทั่วโลกที่เรียกร้องหาการลดขนาดรัฐให้เล็กลง สอดคล้องกับพัฒนาการของความรู้และเทคโนโลยีร่วมสมัยของโลกทุกสาขา
โครงสร้างกลุ่มจัดตั้งแบบสหพันธรัฐนี้ เมื่อพลังประชาธิปไตยมีสามารถยึดอำนาจรัฐมาได้แล้ว จะแปรเปลี่ยนเป็นโครงสร้างรัฐใหม่ที่เป็นรัฐเครือข่ายที่หลากหลาย (อย่างน้อย 6 รูปแบบข้างต้น) ที่ถ่วงดุลกันและกัน สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการจัดการเชิงอำนาจของแต่ละพื้นที่อย่างเป็นไปได้ที่สุด
รูปแบบจัดตั้งแบบสหพันธรัฐ ที่มีทั้งรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลาง (ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเป็นมหาชนรัฐ) ยังสามารถตอบโจทย์สำคัญของสังคมสยามในปัจจุบัน ที่ทหารทำตัวเป็นคนเถื่อนถืออาวุธ ทำรัฐประหารได้ตามอำเภอใจ เพราะทหารในกองทัพสหพันธรัฐ จะถูกเงื่อนไขให้ไม่สามารถยึดอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จได้เลย จำต้องถูกแปรสภาพเป็นกองทัพรัฐบาลกลางที่มีหน้าที่หลักป้องกันประเทศเป็นสำคัญ ไม่ใช่มีภารกิจมุ่งยึดอำนาจสร้างรัฐเผด็จการ
สหพันธรัฐ ยังสามารถช่วยให้การจัดเก็บภาษีของรัฐและการใช้จ่ายของรัฐมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นจะมีความใกล้ชิดและตอบสนองความต้องการของกลุ่มธุรกิจเอกชนและชุมชนผ่านกระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพและถ่วงดุล
ภายใต้สหพันธรัฐ จะทำให้ผู้รักประชาธิปไตยสยาม สามารถก้าวข้ามคำถามที่วนเวียนแบบวงจรอุบาทว์ทั้งในระหว่าง และหลังการต่อสู้ เหลืออย่างเดียวเท่านั้นคือ ข้อเสนอนี้ จะกลายเป็นที่ยอมรับของผู้ร่วมขบวนแถวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสยามอย่างทั่วถึงหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น