ศิวะ รณยุทธ์
เมษายน 2554
หากจะค้นหาสังคมที่ดำรงอยู่จริงในปัจจุบันที่ใกล้เคียงอุดมคติของมนุษย์ ที่มีความรุ่งโรจน์รอบด้าน ทั้งเสถียรภาพทางการเมือง ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ หลักประกันทางสังคมให้กับพลเมือง คุณภาพของประชากร ขันติธรรมของความคิดที่แตกต่าง และการเปิดกว้างรับนวัตกรรมใหม่ๆถือว่า สวิตเซอร์แลนด์ หรือ สวิส ได้รับการยอมรับมากที่สุดชาติหนึ่ง
ในบรรดาสหพันธรัฐในโลกนี้ ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 27 ประเทศ (รวมทั้งจีน สหรัฐฯ อินเดีย อาร์เจนติน่า รัสเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา และเยอรมนี) แต่สวิสถือว่าเป็นโมเดลต้นแบบที่น่าชื่นชมมากสุดอย่างปราศจากข้อสงสัย และในบรรดาชาติประชาธิปไตยทั้งหมดในโลกนับร้อยประเทศ สวิสก็ได้ชื่อว่าโดดเด่นมากสุดเช่นกัน
ในปัจจุบัน สวิส ได้ชื่อว่าประชาชนมีเสรีภาพมากที่สุดประเทศหนึ่ง มีดัชนีความสุขของพลเมืองในระดับหัวแถวมีความก้าวหน้าจากทุนนิยมเสรีมากที่สุด มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงกว่าทุกชาติในยุโรปและญี่ปุ่น ค่าเงินสวิสฟรังก์แกร่งแถวหน้าของโลกและผันผวนต่ำกว่าสกุลอื่นๆ เป็นผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับสองของโลกโดยที่ไม่มีวัตถุดิบในประเทศ เป็นผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำของโลกทุกระบบโดยที่ไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ มีสถาบันการเงินและบริษัทข้ามชาติทางด้านยา เคมีภัณฑ์ และวิศวกรรมมีชื่อเสียงระดับโลก มีบริษัทผลิตเครื่องยนต์สำหรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ระดับโลก โดยที่ไม่มีดินแดนติดต่อกับทะเลแม้แต่น้อย
ข้อตำหนิที่คนส่วนใหญ่รับรู้เมื่อเอ่ยถึงประเทศนี้ มีอยู่เพียง 2 ข้อหลักเท่านั้นคือ ค่าครองชีพที่สูงมากเพราะความร่ำรวยของคนในชาติ และความไร้อัตลักษณ์ของชาติเนื่องจากมีหลากเผ่าพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม ไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่าเป็นสวิส ยกเว้นรูปปั้นเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นชื่อของประเทศคือ เฮลเวทติก้า Confoederatio Helvetica (CH) เท่านั้น
ความรุ่งโรจน์เหล่านี้ มิใช่ได้มาโดยง่ายดายและสันติ แต่มีเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านกระบวนการต่อสู้อย่างโชกโชนทางสังคมและการเมืองถึงเลือดเนื้อ และสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วนตลอดกว่าพันปี ทั้งก่อนหน้าและหลังการเป็นรัฐประชาชาติ ซึ่งสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาการเปลี่ยนผ่านสังคมภายใต้โมเดลสวิส ได้ดังต่อไปนี้
1. เส้นทางเพื่อได้มาซึ่งสันติภาพยั่งยืน เกิดจากการต่อสู้อันยากลำบากจากรัฐฟิวดัลชายขอบของมหาอำนาจรอบด้านที่กษัตริย์ครองอำนาจนำ ผ่านการทดลองที่เจ็บปวดไม่ต่างจากสังคมอื่น นับแต่การปฏิรูปศาสนา การต่อสู้กันเองภายใน มาสู่รัฐขนาดใหญ่แบบสาธารณรัฐ จนท้ายสุดท้ายสุดกลับไปสหพันธรัฐอันเป็นรูปแบบเก่าที่สอดคล้องกับความต้องการของมวลชน และ กลายเป็นรัฐเป็นกลางที่โลกเคารพในศักดิ์ศรี กลายเป็นความสำเร็จที่ลงตัวยั่งยืน
2. มวลชนมีบทบาทแข็งขันในการสร้างฉันทามติร่วมว่าต้องการรัฐขนาดเล็กที่มีการถ่วงดุลเหมาะสมระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นโดยไม่จำต้องมีอุดมการณ์ที่ตายตัว และไม่ต้องการลัทธิชาตินิยมคับแคบ แต่เน้นการมีส่วนร่วม และขันติธรรมในความแตกต่าง
3. โมเดลของรัฐแบบสวิสตอกย้ำข้อเท็จจริงว่า หากรัฐถูกออกแบบให้มีโครงสร้างที่เหมาะสม มีระบอบเศรษฐกิจและกระจายผลประโยชน์ที่ลงตัว การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ก็ลดความเข้มข้นลงโดยไม่กระทบต่อพัฒนาการทางปัญญาอื่นๆของสมาชิกในสังคม
4. โมเดลการสร้างรัฐที่สันติสุขที่ไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของกองกำลังที่ถ่วงดุลกัน ทำให้สวิสเป็นชาติกำลังทหารและอุปกรณ์การรบสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่กลับมีสันติภาพยั่งยืน
ประสบการณ์ก่อนจะเป็นโมเดลสวิส
โดยทางภูมิศาสตร์ สวิสเป็นดินแดนที่ไม่ติดทะเล และถูกห้อมล้อมด้วยภูเขาสูง ผู้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ราบสูงกลางหุบเขาของเทือกเขาแอลป์ส ประวัติศาสตร์ของสวิสเริ่มต้นจากการเป็นรัฐชายขอบของมหาอำนาจรอบด้านมาตั้งแต่ยุคโรมันเสียด้วยซ้ำ เป็นเส้นทางผ่านของกองทหารสำคัญของโลกนับแต่ฮันนิบาล จนถึงจูเลียส ซีซาร์ แต่ยังถือเป็นอาณาจักรขนาดเล็กของชนเผ่าเคลท์ที่กระจายตัวกันในที่ราบสูงที่ล้อมรอบด้วยภูเขาแอลป์อันหนาวเหน็บ ถือว่าค่อนข้างกันดารด้านอาหารเสียด้วยซ้ำ แต่ชื่อเสียงของทหารสวิสในการรบนั้น ระบือยาวไกลทั่วยุโรป ทำให้นอกเหนือจากอาชีพเลี้ยงสัตว์ ทำหัตถกรรมและการเกษตรแล้ว อาชีพทหารรับจ้างก็เป็นที่มาของรายได้สำคัญของชายสวิสที่หล่อเลี้ยงสังคม โดยเจ้าฟิวดัลของนครรัฐต่างๆ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าระดมนักรบให้กับรัฐภายนอกที่ต้องการว่าจ้าง
ฐานะการเป็นรัฐของสวิส เริ่มต้นอย่างเชื่องช้านับแต่อาณาจักรโรมันล่มสลายในคริสต์ศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา ในฐานะรัฐชายขอบของอาณาจักรเมโลวินเจียน และคาโรลินเจียน ในยุคกลาง พร้อมกับการเคลื่อนตัวเข้ามาของชนเผ่าที่พูดภาษาเยอรมัน อิตาเลียนและโรมาเนีย มีความพยายามจะสร้างราชอาณาจักรใหญ่ที่รวบอำนาจเข้าส่วนกลางหลายครั้ง แต่อยู่ได้ไม่นานเพราะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีกำลังเหนือกว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ก่อนสงครามครูเสด ทำให้มีฐานะกลับเป็นนครรัฐที่รวมกันอย่างหลวมๆ ในกำกับของราชวงศ์โฮเฮนสเตาเฟ็นแห่งสวาเบีย แล้วก็ถ่ายโอนมาอยู่ใต้กำกับของราชวงศ์ฮับสบวร์กในเวลาต่อมา โดยผู้ปกครองนครรัฐฟิวดัลต่างๆได้รับอภิสิทธิ์จำเพาะให้มีอำนาจควบคุมคนในสังกัด เก็บภาษีและฤชาอย่างอิสระ สร้างตลาดสินค้า สร้างระบบเงินตราเอง สร้างกองทัพเอง และมีกฎหมายเฉพาะ
หลังสงครามครูเสด นครรัฐเทือกเขาแอลป์ ได้กลายเป็นเส้นทางการค้าข้ามพรมแดนทางบกที่สำคัญของยุโรปจากทุกทิศทั้งด้านแหลมอิตาลี ทะเลบอลติก ทะเลดำ และทะเลเหนือ ทำให้แนวคิดให้เป็นดินแดนเปิดเสรีของสินค้าและบริการแพร่กระจายไป พร้อมกับมองเห็นความจำเป็นที่นครรัฐต่างๆต้องหาทางจัดระเบียบอำนาจใหม่เพื่อให้เส้นทางการค้าดำเนินไปราบรื่นและรุ่งเรือง
ราชาเจ้านครรัฐฟิวดัลจึงได้หารือกันจัดตั้งสมาพันธรัฐอย่างเป็นทางการและกระชับมากขึ้น พร้อมกับเตรียมความพร้อมเพื่อทำสงครามกับอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ใต้ฮับสบวร์ก โดยอาศัยประสบการณ์ที่คนสวิสออกไปตระเวนเป็นทหารรับจ้างในกองทัพทั่วยุโรปจำนวนมากและยาวนานหลายร้อยปี รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า สมาพันธรัฐสวิสฟิวดัล
สงครามต่อต้านราชวงศ์ฮับสบวร์กหลายสิบครั้ง ทำให้กองทัพของสมาพันธรัฐตระหนักถึงการสร้างเอกภาพทางทหารและการเมืองระหว่างกันมากขึ้นเพื่อประสิทธิภาพในการรบ มีการสร้างสัญลักษณ์ร่วม ซึ่งที่โดดเด่นคือ การใช้ธงพื้นแดงที่มีตราอุนาโลม(กากบาท)ขาวร่วมกัน และการสร้างปฏิมากรรมที่เป็นบุคลาธิษฐาน ถือเป็นวีรสตรีของสมาพันธ์คือ เฮลเวเชีย แล้วก็เริ่มประสบความสำเร็จชั่วขณะ เมื่อเกิดสงครามที่เรียกว่า สมรภูมิโลแปง ใน ค.ศ. 1399 ที่ขยายตัวเป็น สงครามสวาเบียน ค.ศ. 1499ที่กองทัพเล็กสามารถเอาชนะกองทัพใหญ่ของราชวงศ์ฮับสบวร์กได้
ชัยชนะดังกล่าว น่าจะเป็นหลักประกันความมั่นคงของสมาพันธรัฐสวิสฟิวดัลได้ดี แต่กลับตรงกันข้าม เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผสมเข้ากับสถานการณ์ภายในและภายนอกที่เปลี่ยนรุนแรงจากการปฏิรูปศาสนาของมาร์ติน ลูเธอร์ และจอห์น คาลวิน พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการทหารที่มีการนำปืนใหญ่และปืนคาบศิลามาใช้แทนดาบหอก และธนู ทำให้ความขัดแย้งและตึงเครียดระหว่างนครรัฐที่เป็นสมาพันธ์เกิดขึ้นตลอดเวลา มีการรบพุ่งระหว่างนครรัฐที่พยายามจะแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระหลายครั้ง จนทำให้คริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 เป็นห้วงเวลาของความปั่นป่วนวุ่นวาย โดยเฉพาะในช่วงระหว่างและหลังสงคราม 30 ปีอันเป็นสงครามศาสนาที่สำคัญยิ่งของยุโรป รัฐต่างๆแยกเป็นคาธอลิกกับโปรเตสแตนท์ เข้าทำสงครามด้วยกันเอง ก่อนจะจบลงด้วยสนธิสัญญาเวสฟาเลีย อันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐประชาชาติที่โลกคุ้นเคยในปัจจุบัน และการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องชี้นำความก้าวหน้าของความคิดผู้คน
ห้วงเวลาก่อนและระหว่างสงคราม 30ปี นครรัฐและชาวสวิสได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าของสงครามรอบด้านในฐานะเป็นผู้ส่งเสบียงและสินค้าสารพัดป้อนชาติที่รบพุ่งกัน รวมทั้งรายได้จากการเป็นทหารรับจ้างในสงครามกับทุกฝ่าย ทำให้เศรษฐกิจทุนนิยมแบบใช้เงินตราเฟื่องฟูอย่างมาก แต่ความแข็งแกร่งของสมาพันธรัฐเสื่อมทรามลง เพราะแต่ละนครรัฐที่แตกต่างกันในเรื่องศาสนาและการเลือกเข้าข้างกับมหาอำนาจรอบด้าน ไม่สามารถหาเอกภาพกันได้
ท่ามกลางความขัดแย้งยาวนาน เจ้าฟิวดัลของนครรัฐสวิสก็เริ่มตระหนักมากขึ้นเรื่อยๆว่า การแยกตัวเป็นอิสระเบ็ดเสร็จจากนครรัฐเป็นผลเสียมากกว่าผลดีเพราะจะทำให้ตกใต้อิทธิพลของชาติใหญ่กว่าที่อยู่รอบด้านง่ายมาก การประคองฐานะด้วยการรวมกันหลวมๆในรูปสมาพันธ์จะช่วยให้อยู่รอดและพึ่งพากันท่ามกลางความแตกต่างได้ดีกว่า
ความเชื่อดังกล่าวได้รับการตอกย้ำมากขึ้นหลังจากสงคราม 30 ปีสิ้นสุดลง เพราะความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างสงคราม ถดถอยลงอย่างรนแรง พร้อมกับการรุกเข้ามาสร้างอิทธิพลของมหาอำนาจใหม่ยุโรป คือฝรั่งเศสที่มีกำลังทางทหารอันยิ่งใหญ่ สมาพันธรัฐสวิสเก่าก็เริ่มย่างเข้าสู่ความเสื่อมโทรมอย่างหยุดยั้งไม่ได้ เจ้าฟิวดัลและชนชั้นสูงเก่าของนครรัฐต่างๆเริ่มถูกท้าทายจากมวลชนระดับล่างที่มีความมั่นใจในความสามารถทางการจัดตั้งและทำสงครามของตนเอง พลเมืองระดับล่างจำนวนมาก เป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาใหม่จากดินแดนรอบข้างในช่วงสงคราม 30 ปีและอยู่กันอย่างแออัดในเมืองใหญ่ๆ จนเสียสมดุลในโครงสร้างอำนาจแบบดั้งเดิมของนครรัฐใหญ่ๆ
เศรษฐกิจหลังสงครามที่ถดถอย และ สินค้ามีราคาแพงขึ้นอย่างรุนแรง จนค่าเงินหมดสภาพ ทำให้บรรดาเจ้านครรัฐต่างๆที่ขัดสนทางการเงิน แต่ต้องหาทุนมาซื้ออาวุธที่ทันสมัยเช่นปืนใหญ่หรือสร้างป้อมปราการ ต้องหารายได้เพิ่มเติมด้วยการขูดรีดภาษีที่ดินและเกณฑ์แรงงาน รวมทั้งการผลิตเงินตราใหม่ที่ทำให้เงินรุ่นเก่าในมือประชาชนใต้ปกครองไร้ค่า สร้างความเดือดร้อนที่กระจายไปทุกหย่อมหญ้าจนเกิดขบถต่อต้านภาษีของชาวเมือง และขบถชาวนาหลายสิบครั้ง เป็นเวลายาวนานกว่าร้อยปี มีผู้คนล้มตายหลายหมื่นคน
ขบถที่โดดเด่นและสร้างผลสะเทือนสูงยิ่งต่อประวัติศาสตร์ของสวิสได้แก่ สงครามชาวนา ค.ศ. 1653 เมื่อกำลังชาวนาและชาวเมืองในหลายนครรัฐสร้างกองทัพขบถมีจำนวนมากกว่า 28,000 คน นำโดยสองผู้นำสามัญชน นิเคล้าส ลูเอ็นแบร์ เชื้อสายเยอรมัน และ คริสติออง ชีบี้ เชื้อสายฝรั่งเศส ร่วมตัวกันก่อตั้ง สันนิบาทฮุตวิล เพื่อสร้างสมาพันธรัฐสวิสของมหาชน ปฏิเสธการนำของเจ้าฟิวดัลและพวกอภิชนเจ้าที่ดินและกลุ่มทุนการค้าทั้งหลาย
การขบถดังกล่าว ถูกปราบลงอย่างโหดร้ายด้วยอำนาจของปืนใหญ่ของกองทัพเจ้าฟิวดัลและอภิชนหลายนครรัฐร่วมกัน แต่ผลพวงของขบถครั้งนั้น และครั้งต่อๆมา ซึ่งทั้งถูกปราบปรามลงไป ทำให้เกิดผลพวงตามมาสองด้านพร้อมกันคือ เจ้าฟิวดัลต้องหันมาใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของไพร่ราษฎร์ที่ตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก เพิ่มสวัสดิการและสร้างกฏหมายที่ยืดหยุ่นลดการขูดรีดลง กับฐานะนำของเจ้าฟิวดัลเสื่อมทรามลงในสายของของมวลชนใต้สังกัด รอวันผุพังลงไป
ความพยายามประนีประนอมของเจ้าฟิวดัลเพื่อซื้อเวลา เกิดขึ้นด้วยการสร้างสมาคมเฮลเวติกขึ้นมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18เพื่อให้เกิดการนำเสนออย่างไม่เป็นทางการเพื่อระดมสมอง หารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับรัฐสวิสสำหรับอนาคต โดยสรรหาตัวแทนจากสามัญชนบางส่วนเข้ามาร่วมถกเถียงด้วย ซึ่งปรากฏว่า มีข้อเสนอใหม่ๆเพื่อสร้างสังคมปรากฏขึ้นมาเช่นในค.ศ. 1777 โยฮัน จอร์จ สโตการ์ แห่งแคว้นชาฟเฮาเซ่นเสนอให้ออกแบบสร้างสหรัฐสวิตเซอร์แลนด์โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากการประกาศเอกราชและสร้างสมาพันธรัฐของสหรัฐอเมริกาโดยให้เป็นมหาชนรัฐและสิทธิเสมอภาคกับพลเมืองทุกคน แต่ข้อเสนอไม่ผ่านมติของสมาคม
การล่มสลายของระบอบเจ้าฟิวดัลอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1798 นครรัฐบางแห่งเข้าไปเชื้อเชิญกองทัพฝรั่งเศสโดยนโปเลียนเข้ามาทำลายอำนาจของเจ้านครรัฐแห่งเบิร์นที่มีอำนาจมากสุด แต่นโปเลียนกลับทำมากกว่านั้นคือทำลายเจ้าฟิวดัลสวิสลงทั้งหมด แล้ว ปลดปล่อยมวลชนเป็นเสรีชน ภายใต้คำขวัญปฏิวัติฝรั่งเศส”เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” พร้อมกับปฏิรูปรัฐใหม่ที่รวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเบ็ดเสร็จ เรียกว่ายุคปฏิรูป ภายใต้ชื่อสาธารณรัฐเฮลเวติก
ภายใต้โครงสร้างรัฐใหม่ตามแนวทางนโปเลียนที่จำลองแบบของฝรั่งเศสทั้งหมดนี้ เจ้าฟิวดัลสูญเสียฐานะนำในสังคมไปอย่างสิ้นเชิง เพราะบทบาทการเป็นหัวหน้าทหารรับจ้าง และผู้กำหนดกฏหมายหรือระเบียบทางสังคมถูกยึดไปจนหมดสิ้น
แม้นโปเลียนจะยกตนว่า เป็นผู้มาปลดปล่อยชาวสวิสออกจากเจ้าฟิวดัล แต่คนสวิสกลับรู้สึกอึดอัดใจอย่างยิ่งภายใต้การบงการของฝรั่งเศส เพราะจารีตเก่าแก่ของสังคมถูกยกเลิกไปทั้งหมด รู้สึกเสมือนเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เพราะมีข้อตกลงระหว่างสาธารณรัฐใหม่กับฝรั่งเศสระบุว่า กองทัพฝรั่งเศสสามารถเข้ามาปราบปรามผู้ที่ต่อต้านสาธารณรัฐใหม่นี้ได้ตลอดเวลา และยังต้องส่งทหารเกณฑ์สวิสเข้าร่วมรบในสงครามที่ฝรั่งเศสร่วมรบด้วย
บทเรียนใหม่เช่นนี้ บอกชาวสวิสว่า การมีรัฐขนาดใหญ่ที่รวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ไม่เพียงแต่คนในท้องถิ่นจะไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางอำนาจแล้ว ยังทำให้สังคมโดยรวมต้องแบกภาระต้นทุนสูงเกินจำเป็น เพราะการจัดการรัฐมีประสิทธิภาพต่ำ และขาดความยืดหยุ่นในกระบวนการทำงาน ในขณะที่การตัดสินนโยบายจะถือเอาประโยชน์ของรัฐมากกว่าผลประโยชน์ของมวลชน และท้ายสุด รัฐมีแนวโน้มใช้อำนาจคุกคามเสรีภาพของมวลชนได้ง่าย นับแต่การเก็บภาษีและการสร้างสภาพบังคับทางกฏหมายอย่างเหมารวม
ความขัดแย้งหลักของมวลชนและปัญญาชนสวิสเกี่ยวกับโครงสร้างรัฐในยุคสาธารณรัฐ จึงอยู่ที่ประเด็นว่าด้วย ระหว่างการเป็นสาธารณรัฐแบบฝรั่งเศสที่รวบอำนาจเข้าส่วนกลาง กับ การเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐแบบสหรัฐอเมริกาที่ถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลกลาง อย่างไหนดีกว่ากัน
ทั้งสองกลุ่มที่อุดมการณ์ขัดแย้งกัน ได้ต่อสู้กันอย่างรุนแรง กลุ่มแรกพยายามทำรัฐประหารถึง 4 ครั้งภายในเวลา 5 ปีใต้การดำรงอยู่ของสาธารณรัฐ ส่วนกลุ่มหลังพยายามลุกฮือหลายครั้งเพื่อขอแยกตัวออกจากรัฐบาลกลางเป็นประเทศใหม่ แต่ล้วนไม่ประสบความสำเร็จทั้งสองฝ่าย เพราะถูกกองทัพฝรั่งเศสปราบปรามอย่างทารุณ
ในสงครามช่วงท้ายของนโปเลียน ดินแดนของสวิสถูกกองทัพต่อต้านนโปเลียนได้แก่ออสเตรีย และรัสเซียแบ่งกันเข้ายึดครอง ดังนั้นเมื่อยุคของนโปเลียนสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการพร้อมกับข้อตกลงคองเกรสแห่งเวียนนา ประเด็นฐานะของสวิสก็ได้รับการบันทึกลงเป็นทางการว่า ทุกชาติที่ยึดครองดินแดนสวิสจะต้องถอนตัวออกไป และรับรองความเป็นกลางอย่างถาวร แต่ยังให้คงรูปแบบของส่าธารณรัฐแบบฝรั่งเศสอันเป็นมรดกของนโปเลียนเอาไว้
ความขัดแย้งระหว่างคนสวิสด้วยกันระหว่างทางเลือกเป็นสาธารณรัฐแบบฝรั่งเศส กับ สหพันธ์สาธารณรัฐแบบสหรัฐอเมริกา จึงสะสมและพอกพูนขึ้น กลายเป็นสงครามกลางเมือง เมื่อผู้นำ 7 แคว้นคาธอลิก ได้จัดตั้งกันรวมตัวขึ้นทำสงครามกับรัฐบาลกลางที่เบิร์นจนได้ผลรู้แพ้ชนะในสงครามซอนเดอร์บันด์ ค.ศ. 1847 ซึ่งหลังจากสงครามจบลง ก็มีการการร่างรัฐธรรมนูญสร้างสหพันธ์สาธารณรัฐที่รัฐส่วนกลางมีอำนาจจำกัด และคานอำนาจอย่างซับซ้อนโดยรัฐบาลท้องถิ่นของ 22 แคว้นอย่างมีขันติธรรมต่อกัน และได้ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1848 ก่อนที่คาร์ล มาร์กซ และเฟรดริก เองเกลส์จะเขียนแถลงการณ์ชาวคอมมิวนิสต์อันลือลั่นเสร็จในหลายเดือนต่อมาของปีเดียวกัน
รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1848 นี้ ถือได้ว่าเป็นต้นแบบที่ก้าวหน้าที่สุดของประชาธิปไตยของโลกมาจนถึงปัจจุบัน และมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก สะท้อนให้เห็นความลงตัวของโครงสร้างทางอำนาจทางการเมืองที่สอดรับกับความต้องการของมวลชน และพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ที่เกิดจากกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ หลากความคิด และต่างวัฒนธรรม
หนึ่งในข้อกำหนดสำคัญของรัฐธรรมนูญก็คือ ห้ามคนสวิสเป็นทหารรับจ้างในกิจการของประเทศต่างๆทั่วโลก ยกเว้นทหารรักษาการณ์ที่วาติกันในกรุงโรม อันเป็นพิธีกรรมมากกว่าการสงครามที่แท้จริง เพื่อรักษาความเป็นกลางของสวิสอย่างเคร่งครัด แต่นั่นไม่ได้หมายความจะทำให้เลือดนักสู้ของคนสวิสลดน้อยลง เพราะข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพ ทำให้ทุกวันนี้ คนสวิสทั้งชายและหญิงที่ขึ้นทะเบียนในกองทัพในรัฐบาลกลาง คิดเป็นจำนวนมากกว่า 40% ของพลเมือง หรือ มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนในวัยทำงาน สูงเป็นอันดับสองรองลงมาจากอิสราเอลเท่านั้น แต่มีเพียง 5% ของทหารในกองทัพที่เป็นทหารประจำการอาชีพเต็มเวลา ส่วนที่เหลือเป็นทหารเกณฑ์ ทหารอาสา และทหารบ้านของแต่ละแคว้น (โดยทุกคนได้รับการฝึกฝนให้ใช้อาวุธสมัยใหม่อย่างคล่องแคล่ว และมีอาวุธครอบครองในที่อยู่อาศัย โดยที่มีคดีอาชญากรรมเกิดขึ้นน้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก)
ส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงสาระของรัฐธรรมนูญมากสุดคือ ค.ศ. 1971 เมื่อมีการเพิ่มเติมให้สตรีในวัยบรรลุนิติภาวะได้รับสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่าเทียมชาย กับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกภาพของสหประชาชาติ ค.ศ. 2002 นี้เอง
โมเดลสวิสกับสังคมสยาม
ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการก่อนจะมาเป็นโมเดลสวิส ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างของอำนาจรัฐที่เหมาะสมมีความสำคัญต่อกระบวนการจัดการทรัพยากรทางสังคมอย่างลึกซึ้ง การแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น กับรัฐบาลกลางให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากรัฐภายนอก และเพื่อเปิดช่องให้กับเสรีภาพ ยุติธรรม และการจัดสรรทรัพยากรภายในที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของสมาชิกในสังคม เป็นสิ่งที่ไม่ได้หล่นมาจากฟากฟ้า แต่ต้องเกิดจากความพยายามค้นหาและร่วมกันสร้างขึ้นมา
กุญแจสำคัญของโมเดลสวิส ชี้ให้เห็นว่า การได้มาซึ่งสูตรโครงสร้างรัฐที่เหมาะสมนั้น ต้องผ่านความเจ็บปวดและเสียสละแต่สามารถเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายได้ หากเปิดโลกทัศน์ที่พร้อมจะนำเอามาใช้เป็นบทเรียนสำหรับอนาคต โดยอาศัยพื้นฐานของสังคมเดิมที่สอดรับกันอย่างเหมาะสม
สังคมสวิส ที่พัฒนาการจากสังคมเดิมหลากชนเผ่าโดยพื้นฐาน ทำให้การมีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ แต่รัฐบาลท้องถิ่นขนาดเล็ก ไม่เพียงพอต่อความอยู่รอดของรัฐโดยรวม ต้องมีรูปแบบของการสร้างรัฐบาลขนาดใหญ่ในรูปสมาพันธรัฐเข้ามาเสริมเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นป้องกันภัยจากภายนอก แต่การมีรัฐบาลกลางที่เข้มงวดมากไป ก็ทำให้ผู้คนในสังคมอึดอัดกับกระบวนการจัดการปัญหาอย่างองค์รวมมากเกิน จึงต้องย้อนกลับมาประยุกต์ใช้โครงสร้างเดิมที่ปรับปรุงใหม่อย่างสอดรับกัน กลายเป็นสูตรผสมที่ลงตัว
เมื่อสองร้อยปีก่อน หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการถือกำเนิดของรัฐประชาชาติ มีความพยายามค้นหาสูตรและโครงสร้างทางสังคมและรัฐที่เหมาะสมกับความต้องการของสมาชิกในสังคม เกิดเป็นลัทธิเศรษฐศาสตร์การเมืองมากมาย ที่โดดเด่นคือ ประชาธิปไตย/ทุนนิยมเสรี กับสังคมนิยมระดับต่างๆ ก่อนเกิดการต่อสู้เพื่อสร้างสังคมเป้าหมาย แต่ท้ายสุดจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถหาต้นแบบที่เหมาะสมและลงตัวได้ดีพอ ในขณะที่สวิสซึ่งค้นพบสูตรสำหรับตัวเองได้ลงตัวกลับสงบนิ่งและเผชิญกับการยืดหยุ่นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก/ได้อย่างยั่งยืน
ในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ที่บรรดารัฐชาติต่างๆในโลก ต่างมีความพยายามหาทาง ออก หรือ สร้างข้อเรียกร้องเพื่อพัฒนาไปสู่สภาพของการลดขนาดรัฐให้เล็กลงอย่างเหมาะสมภายใต้กระบวนทัศน์”สังคมครอบรัฐ มิใช่รัฐใหญ่ครอบสังคม” โดยมุ่งอาศัยความสัมพันธ์เชิงเครือข่าย ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีในทุกสาขาความรู้ จนกระทั่งโครงสร้างและระบอบรัฐชาติเดี่ยว นับวันจะพ้นยุคมากขึ้นไปเรื่อยๆ โมเดลของสวิสก็ยิ่งเพิ่มความโดดเด่นเป็นทวีคูณ
โครงสร้างสหพันธรัฐตามโมเดลสวิส จะช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถจำแนกออกไปได้อย่างหลากรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการจัดการเชิงอำนาจของแต่ละรัฐได้อย่างยืดหยุ่น ภายใต้ความสามารถในการเลือกสรรกับสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด ขจัดปัญหาการใช้อำนาจรัฐเดี่ยวจากส่วนกลางครอบงำ อีกทั้งการที่คนส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งของวัยทำงานเป็นทหารในกองทัพหลากรูปแบบ ก็ทำให้ข้ออ้างของผู้นำกองทัพในการผูกขาดความรักชาติเพื่อจะแทรกแซงรัฐบาลกลางและท้องถิ่นหมดสิ้นไปโดยปริยาย
โมเดลสวิสเช่นนี้ ไม่เหลือวิสัยที่จะเกิดขึ้นในสังคมสยามได้ เพราะแม้ว่ารายละเอียดในสังคมสยามในปัจจุบันจะแตกต่างจากสวิสอย่างมาก แต่หากย้อนมองประวัติศาสตร์ของสังคมในอดีต จะเห็นได้ชัดว่า ความสามารถในการเป็นนักรบของคนสยาม ความหลายหลายทางชนชาติและวัฒนธรรม และความพร้อมในการปกครองตนเองของมวลชนทุกระดับที่อยู่นอกอำนาจรัฐ เป็นสิ่งที่สามารถนำมาก่อร่างสร้างโมเดลสวิสในวิถีสยาม ให้เกิดขึ้นภายใต้หลักการเดียวกันคือ “สังคมครอบรัฐ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค เสรีภาพ และยุติธรรม”ได้ เพียงแต่ต้องมุ่งมั่นไปบรรลุเป้าหมายให้ได้เท่านั้น
หากทำได้ สยามจะกลายเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชียอย่างเต็มภาคภูมิ มิใช่ไกลเกินฝัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น