วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

กระดุมเม็ดแรกผิดของสหพันธรัฐไท

ศิวา มหายุทธ์
กรกฎาคม 2560
-------------------------

ท่ามกลางความน่ายินดีที่กระแสต้อนรับแนวทางการสร้างรัฐใหม่"สหพันธรัฐ" ภายใต้แนวทาง"มวลประชาใหญ่ รัฐเรียวเล็ก" เพื่อมาเป็นกรอบทดแทนโครงสร้างรัฐรวมศูนย์"รัฐใหญ่ครอบสังคม ชาติเหนือมวลประชา"สำหรับสังคมปัจจุบัน มีสิ่งที่ผู้เขียนขอย้ำด้วยความตระหนักตั้งแต่เริ่มต้นยามนี้คือ แนวทางนี้กำลังเริ่มต้นด้วยการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดที่จำต้องทักท้วง
ก่อนที่จะกลัดกระดุมเม็ดต่อๆไปจนผิดเพี้ยนมากขึ้นจนกู่ไม่กลับ

ที่ว่ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิดคือ การประกาศจัดตั้งองค์กร "สหพันธรัฐไท"โดยเพื่อนร่วมขบวนการประชาธิปไตยต่างประเทศกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถือว่าเพียงแค่ชื่อ ก็ทำให้เจตนารมณ์ของสหพันธรัฐในอนาคตบิดเบี้ยวเสียแล้ว
เหตุผลสำคัญคือ ความเข้าใจผิดพลาด ในการใช้คำว่า ไท หรือ ไทย ซึ่งเป็นเกณฑ์วินิจฉัยและตัดสินใจ ด้วยหลักสำคัญเรื่องชนชาติ ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์พื้นที่หรือดินแดน

คำว่า ชนเผ่าไท มีความเข้าใจมายาวนานว่า หมายถึงชนเผ่าหนึ่งในดินแดนที่มีคนต่างชาติพันธุ์อยู่ร่วมปะปนกันมายาวนานในรูป”พหุสังคม”อย่างซับซ้อนกันในดินแดน ที่เคยถูกเรียกกันมานานกว่า 1 พันปีว่า สยาม

การเรียกชื่อประเทศว่า ไท (ไทย) ตอกย้ำความหมายชัดเจนว่า ประเทศดังกล่าวได้เกิดปรากฏการณ์ที่ ชนชาติพันธุ์หนึ่ง ที่เป็นเผ่า ไท(ไทย) ได้สถาปนาอำนาจนำเหนือชาติพันธุ์อื่นๆ แทนที่คำว่า สยามประเทศ เกิดขึ้น โดยเบื้องหลังที่เคยเกิดขึ้นจากเจตนาที่ผิดพลาดของแนวคิดที่โน้มเอียงไปตามกระแสสูงของอิทธิพลพรรคนาซีเยอรมนีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง  โดยปีกทหารและแกนนำขวาจัดในคณะราษฎรที่คลั่งแนวคิดแบบคลั่งชาติ ในยุคที่มีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ
เจตนาของการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม เป้น ไทย ยุคจอมพลแปลก เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 หรือ 78 ปีที่ผ่านมานี้เอง เพื่อเน้นการสร้างอหังการทางชนชาติ โดยอ้างคำว่า ไท (ไทย) มีความหมายถึง อิสรชนทั้งจิตใจและพฤติกรรม ซึ่งบางครั้งถูกนำไปตีความทางลบเช่นว่า ทำได้ตามใจ คือ ไทยแท้ เป็นต้น
   ​สยามประเทศในอดีตที่เป็นแหล่งรวมของชาติพันธ์หลากหลาย นับตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อประเทศ จึงกลายเป็นดินแดนที่ชาติพันธุ์ไท หรือ ไทย แสดงอหังการ ครอบงำชาติพันธุ์อื่น และเป็นต้นธารของความขัดแย้งที่มีอำนาจรัฐรวมศูนย์ เป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางชาติพันธุ์ และชนชั้นอย่างแยกไม่ออกโดยปริยาย
อหังการของคำว่าไท หรือ ไทย ถูกตีความเข้มข้นมากขึ้นถึงขั้นคนไทยที่นับถือพุทธหีนยานบางกลุ่ม ถึงขั้นยกระดับสร้างแนวคิดตั้งข้อรังเกียจ หรือยกตนเหนือ คนไทยหรือชาติพันธุ์อื่นที่นับถือศาสนาอื่นๆไปด้วย
    ​ในประวัติศาสตร์อันยาวนานก่อน พ.ศ. 2482 สยามในฐานะดินแดน หรือ พื้นที่ เป็นที่ยอมรับกันมายาวนาน นักปราชญ์ที่ทุ่มเทศึกษาความเป็นมาของคำว่าสยาม ระบุว่า เป็นคำเก่าแก่ที่คนอินเดียโบราณในอนุทวีป ใช้เรียกดินแดนที่ตั้งแห่งนี้มาแต่ต้นเกือบพันปีแล้ว โดยปรากฎถึงขึ้นมีคำ श्याम ที่ใช้ในอักษร เทวนาครี(ซึ่งเป็นอักษรที่เกิดขึ้นและพัฒนาในอินเดียเมื่อราวปี พ.ศ. 1743 (ค.ศ. 1200) และเป็นอักษรคู่ขนานกับอักษรสันสกฤตมาจนถึงปัจจุบัน)
    ​จดหมายเหตุเก่าของจีน ระบุว่าในบริเวณประเทศที่เราอาศัยปัจจุบัน แต่เดิมมีอาณาจักรอยู่ด้วยกัน 2 อาณาจักร คือ อาณาจักร "เซียน" (暹国; น่าจะหมายถึง สยาม หรือ สุโขทัย) ซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้น แต่ยังอยู่ใต้อาณาจักร "ร้อยสนม" (สันนิษฐานว่าคืออาณาจักรล้านนา-ไทใหญ่) และอาณาจักร "หลัววอ" (羅渦国; น่าจะหมายถึง อยุธยา ซึ่งจีนยังใช้ชื่อของ ละโว้ เรียกอยู่) โดยอาณาจักร "เซียน" นั้นมักประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ต้องนำเข้าข้าวจากอาณาจักร "หลัววอ" จนในที่สุด อาณาจักร "เซียน" และอาณาจักร "หลัววอ" ได้รวมกันเข้า ทางราชสำนักจีนจึงได้รวมเรียกชื่ออาณาจักรใหม่ที่เกิดจากการรวมกันดังกล่าวว่า อาณาจักร "เซียนหลัว" (暹罗国; ภาษาจีนกลางยุคปัจจุบัน="เซียนหลัวกว๋อ" ภาษาจีนแต้จิ๋ว = "เสี่ยมล้อก๊ก") ซึ่งได้กลายเป็นนามเรียกอาณาจักรโดยชาวจีนมาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนชื่อประเทศ เป็นประเทศไทย
จากคำเรียกชื่อดินแดนในครั้งโบราณ เมื่อกษัตริย์ในยุครัตนโกสินทร์ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามของเจ้าอาณานิคมตะวันตก จึงเริ่มปรับตัวสร้างกระแสตั้งรัฐประชาชาติแบบตะวันตก ทดแทนรัฐตามจารีตโบราณ จึงใช้ชื่อรัฐว่า สยาม อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่การเริ่มต้นทำสนธิสัญญาบาวริ่ง พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855)

    ​เจตนาของการใช้คำว่า สยาม เป็นนามประเทศ มีคำอธิบายชัดเจนว่า เนื่องจากราชอาณาจักรประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ อาทิ ไท ลาว มอญ ญวน เขมร แขก จีน ฝรั่ง และมลายู เจตนารมณ์ในการหลอมรวมเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่แพร่หลายยาวนาน
มีหลักฐานเก่าแก่ในกฎหมายเก่า ระบุถึงการใช้ชื่อสยามมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้นำกฎหมายเก่ามาชำระและรวบรวมเป็นกฎหมายตราสามดวง ชื่อประเทศได้รับการบันทึกเป็นภาษาบาลีว่า "สามปเทส" (สาม หรือ สามะ แปลว่าความเสมอภาค ส่วน ปเทส แปลว่า ประเทศ แต่ฝรั่งออกเสียงเพี้ยน เป็นเซียมหรือไซแอม)

อดีตของสยามที่ไม่มีเป้าหมายเหยียดชาติพันธุ์มายาวนาน จึงถูกลบเลือนไปสิ้นเชิง ด้วยอำนาจรัฐรวมศูนย์ของยุคจอมพลแปลก ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ไม่เพียงเท่านั้น อำนาจรัฐรวมที่พยายามสร้างกระแสเพื่อกระชับอำนาจเข้มข้นต่อเนื่องด้วยการอ่างว่า รัฐไทยนั้นเป็นรัฐเดี่ยว หรือ single state แบ่งแยกไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้ความพยายามกระจายอำนาจสู่ประชาชนถูกเพิกเฉยครั้งแล้วครั้งเล่า
    ​ผลลัพธ์คือการสถาปนารัฐไทยที่กระชับอำนาจในคนกลุ่มน้อย ที่เมินเฉยต่อความหลากหลายของชาติพันธุ์ เป็นเจตจำนงที่ผิดพลาดมาตั้งแต่พ.ศ. 2482 ดังนั้น การสถาปนาสหพันธรัฐ เพื่อสร้างรัฐใหม่บนความหลากหลายที่เอกภาพในอนาคต จะต้องลบรอยอดีตที่ผิดพลาดของเผด็จการยุคจอมพลแปลก ด้วยการย้อนรอยนำชื่อ สยาม กลับมาใช้ใหม่ เพื่อสร้างเอกภาพบนความหลากหลายของสหพันธรัฐ ที่เคารพในหลักการเสมอภาคของชาติพันธุ์ทั้งหลายในรัฐ
การที่กลุ่มสหพันธรัฐไท ยังคงหลงทางใช้ชื่อ ไท (ไทย) เพื่อสร้างสหพันธรัฐ จึงเป็นการย่ำรอยประวัติสาสตร์ที่ผิดพลาดอีกครั้ง เพราะเอกภาพทางชาติพันธุ์จะไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้เลย หากพลเมืองของรัฐที่เป็นชาติพันธุ์หนึ่ง ยังยึดติดในอหังการว่า ตนเองอยู่เหนือชาติพันธุ์อื่น และคนชาติพันธุ์อื่นๆ รู้สึกว่าตนเป็นเพียง"ผู้อาศัย"หรือ"พลเมืองชั้นรอง" เท่านั้น
การย้อนรอย กระทำสิ่งที่เคยผิดพลาด จึงเป็นมากกว่าแค่การใช้คำผิด แต่ยังทำให้การสร้างความร่วมมือในสหพันธรัฐในอนาคตยากยิ่งกว่าการว่ายทวนกระแสน้ำ
ความสำคัญของ สยาม ที่ต่างจาก ไท (ไทย) จึงเป็นมากกว่าประวัติศาสตร์ของการตั้งชื่อเท่านั้น แต่เป็นการกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ที่จะเกิดผลเสียหายในระยะยาว

จุดยืนของผู้เขียน ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มต้นว่า ชื่อที่ถูกต้องของสหพันธรัฐในอนาคตที่จะสร้างเอกภาพในความหลากหลายต้องเป็น 'สหพันธรัฐสยาม' เท่านั้น และจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปยอมรับว่า ความผิดพลาดในการใช้ชื่อ สหพันธรัฐไท เป็นความชอบธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น