วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

ทางเลือกของนักสู้เพื่อประชาธิปไตยไร้เดียงสา


ศิวา มหายุทธ์
กันยายน 2559

     ปรากฏการณ์ที่โดดเด่น หลังจากชัยชนะของกลุ่มแนวร่วมเผด็จการในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 อันสุดแสนอัปลักษณ์ทั้งสาระและกระบวนการ คือ
     1) การรุกคืบอย่างชนิด"ได้คืบเอาศอก"จากการใช้อำนาจผ่านรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบให้เป็นเผด็จการมากขึ้น และปฏิบัติการกระชับอำนาจเผด็จการที่ขยายวงเชิงปริมาณ และคุณภาพอย่างเข้มข้นมากขึ้น
     2) เส้นทางการต่อสู้แบบจำกัดวงของผู้รักประชาธิปไตยและเสรีภาพด้วยแนวทางสันติวิธีในเวทีรัฐสภาและบนท้องถนนเดินทางมาถึงจุดจบแบบเป็นทางการ เหลือแต่แนวทางและเวทีอื่นที่รออยู่แต่ยังไม่มีใครหาญกล้านำเสนอ และไม่พร้อมจะเลือกยอมรับ ด้วยเหตุและข้ออ้างต่างๆกัน สุดแท้จะสรรหาขึ้นมาโดยไม่ยอมออกจากหลุมดำ
     ความฮึกเหิมของแนวร่วมเผด็จการภายใต้กองทัพเป็นแกนนำ เพื่อเป้าหมายใช้อำนาจเบ็ดเสร็จกดสังคมให้อยู่ใต้อำนาจนำด้วยเครื่องมือทุกอย่างที่มี เพื่อสร้างภาพ"รัฐที่ปลอดการเมือง"ซึ่งไร้นักการเมืองฉ้อฉล ไร้ความวุ่นวายจากประชาธิปไตยที่ขาดสงบสันติ มีความรู้รักสามัคคีบนความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ชอบด้วยเหตุผล มีอัตลักษณ์ไทยที่โดดเด่น และมีความมั่นคงของสถาบันหลัก เป็นปรากฏการณ์ที่ดำเนินไปทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ท่ามกลางความพยายามซุกซ่อนปัญหาทุกอย่างไว้ใต้พรม อันเป็นพฤติกรรมที่ถนัดเข้มข้นของอำนาจรัฐรวมศูนย์ที่ถูกออกแบบมายาวนานเมื่อ 100 ปีก่อน
     ความพยายามของแนวร่วมเผด็จการที่ต้องการให้รัฐราชการร่วมมือกับกลุ่มทุนผูกขาดใหญ่จำนวนน้อย ในนาม "ประชารัฐ"  ตามที่แกนนำอย่างประเวศ วะสี ร่วมกับอานันท์ ปันยารชุน และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ออกแบบตามการชี้นำของกองทัพ เพื่อจะปรับเปลี่ยนให้เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ หวังนำไปสู่การก้าวกระโดดใหญ่ทางทุนนิยม ในแนวทางจีนปัจจุบัน หรือเกาหลีใต้ยุคก่อนประชาธิปไตย เพื่อให้คนยอมสยบและเชื่อว่า แม้ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตย แต่เผด็จการเบ็ดเสร็จหรือ ประชาธิปไตยครึ่งใบ ก็สามารถขับเคลื่อนทำให้ประเทศพัฒนาและมั่งคั่งกว่ารัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ถูกขับเคลื่อนอย่างบูรณาการควบคู่ไปกับการกระชับอำนาจในกลุ่มคนจำนวนน้อยภายใต้เครือข่ายราชสำนักที่มีกองทัพเป็นแกนนำ
     เป้าหมายของแนวร่วมเผด็จการนี้ ได้ทำให้เวทีของผู้รักเสรีภาพ ความยุติธรรมทางสังคม และประชาธิปไตย ถูกปิดล้อมเสียจนกระดิกตัวไม่ได้ เพราะกลไกควบคุมอำนาจทั้งทางการและไม่เป็นทางการผ่านช่องทางต่างๆถูกนำมาใช้อย่างเบ็ดเสร็จไม่ต่างจากเผด็จการขวาจัดที่มีแนวร่วมมวลชนหนุนหลังในยุคของ ฮวน และ เอวา เปรองแห่งอาร์เจนติน่า หรือ กองทัพญี่ปุ่นยุคหลังปฏิรูปเมจิ รวมทั้ง ฟาสซิสต์ในอิตาลียุคก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และจีนยุคปฏิวัติทางวัฒนธรรม
    การใช้อำนาจปิดกั้นคุกคามอย่างเบ็ดเสร็จนี้ได้ผลค่อนข้างสูงมาก อย่างน้อยการกระทำภายใต้ข้ออ้าง"ถอยห่างจากการเมือง"ก็สามารถควบคุมสถานการณ์เหนือสังคมอย่างไร้ผู้ต่อต้านที่เข้มแข็ง
    ล่าสุด ท่าที่แปรเปลี่ยนของสหรัฐฯที่หันมาคืนดีกับแนวร่วมเผด็จการที่มีกองทัพเป็นแกนนำ ถือเป็นการประทับความชอบธรรมอย่างเป็นทางการ ให้กับอำนาจนำของแนวร่วมเผด็จการโดยปริยาย
    ความมั่นใจว่าการสถาปนาอำนาจนำเหนือสังคมไทยของแนวร่วมเผด็จการเช่นนี้ สะท้อนจากการยกเลิกศาลทหารล่าสุด ด้วยความเชื่อมั่นสูงสุดว่า กลไกและเครื่องมือของพลังแนวร่วมเผด็จการเหนือรัฐไทยได้สถาปนาขึ้นเป็นเอกภาพ หลังประชามติผ่าน สามารถรับมือกับพลังของแรงต่อต้าน อย่างมีประสิทธิผลและชอบธรรมไปอีกยาวนานตามต้องการได้
    สถานการณ์แปรเปลี่ยนนี้ ขบวนแถวของผู้รักและนักสู้เพื่อประชาธิปไตย (ไม่นับกลุ่มการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ที่เปิดตัวเองล่อนจ้อนว่ายอมตนเป็นเครื่องมือเผด็จการในนามของพรรคการเมืองภายใต้เวทีประชาธิปไตยอย่างฉกฉวยโอกาส) กลับเกิดปรากฏการณ์ที่รวนเรไร้เอกภาพ และมีลักษณะของนักประชาธิปไตยไร้เดียงสากันอย่างชัดเจน ถึงขั้นที่มีบางคนสรุปอย่าสุดขั้วว่า ยามนี้และอนาคต ไม่เพียงภาพรวมของการเมืองแบบเปิดจะถอยหลังเข้าคลองเท่านั้น แต่ขบวนแถวประชาธิปไตยกลับยิ่งถอยหลังกว่าลงคลองด้วยซ้ำ
    ภายใต้สถานการณ์คุกคามเสรีภาพรุนแรงอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองในรอบ 84 ปี นับแต่ พ.ศ. 2475 ช่องทางการต่อสู้ของขบวนแถวประชาธิปไตยถูกล้อมกรอบให้จำกัดอย่างมาก จนกระทั่งแทบจะหาโอกาสและช่องทางขับเคลื่อนอย่างเปิดเผยไม่ได้
     เวทีของผู้รักเสรีภาพ ความยุติธรรมทางสังคม และประชาธิปไตย ถูกปิดล้อมด้วยกลไกควบคุมอำนาจทั้งทางการและไม่เป็นทางการผ่านช่องทางต่างๆอย่างเบ็ดเสร็จ เวทีของการต่อสู้ทางรัฐสภา และการชุมนุม (แม้กระทั่งการเสวนาเชิงวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย) ถูกปิดตาย กลายเป็นเส้นทางต้องห้าม และ"ปลอดการเมือง"
     สถานการณ์ที่ แนวร่วมเผด็จการภายใต้กองทัพเป็นแกนนำเช่นนี้ บ่งบอกท่าทีชัดเจนของแกนนำแนวร่วมเผด็จการว่า ความขัดแย้งทางอำนาจและผลประโยชน์ในสังคมไทย ระหว่างพลังเผด็จการ และพลังประชาธิปไตย จะสิ้นสุดลงต่อเมื่อถึงขั้นแตกหัก จนพลังประชาธิปไตยพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงไปแล้วด้วยข้ออ้างของ"ผลกรรมของความไม่จงรักภักดีและไม่รักชาติเพียงพอ"
    สถานการณ์อันบีบคั้นอย่างที่สุดนี้กลับมีปรากฏการณ์ที่ย้อนแย้งกันขึ้นมาในบรรดากลุ่นคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายที่ทำให้ขบวนแถวไม่สามารถเปล่งพลังในการต่อสู้ใดๆขึ้นมาใน"เชิงรุก"เพื่อช่วงชิงโอกาสทั้งตอบโต้ หรือ ยันการรุกคืบของแนวร่วมเผด็จการได้เลย หนำซ้ำยังมีการถอยร่นไม่เป็นส่ำด้วยซ้ำ
     บรรยากาศเช่นนี้ มีความจำเป็นต้องหันกลับมาทบทวนการต่อสู้ของพลังประชาธิปไตยที่เป็นมากกว่าคำขวัญ"อนาคตสดใส แต่หนทางคดเคี้ยว"อย่างจริงจัง

 หลุมดำของนักประชาธิปไตยไร้เดียงสา

        หากไม่นับกลุ่มนักสู้ตามรอย ทักษิณ ชินวัตร และ นปช. ที่เป็นส่วนหนึ่งในขบวนแถวพลังประชาธิปไตย(จากการเลือกตั้ง และนักเลือกตั้ง) ที่เลือกเส้นทาง"สู้ไป กราบไป"ตลอดมาอย่างไม่สามารถพึ่งพิงได้เลยว่าจะเป็นความหวังในฐานะแกนนำของพลังประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในอนาคตได้แล้ว มีจุดอ่อนสำคัญของกลุ่มนักสู้ประชาธิปไตยที่จำกัดตัวเองกับ"ความไร้เดียงสาหลายรูป" ซึ่งทำให้เส้นทางสู่การต่อสู้ตีบตันภายในหลุมดำ เพราะท่าทีและแนวทางการต่อสู้เสมือน"ล่ามโซ่ตรวนที่ข้อเท้าตนเอง" อยู่ 2กลุ่ม ที่ชัดเจน
1)กลุ่มที่ยึดมั่นกับลัทธิยอมจำนนอย่างดื้อรั้นและอับจน ยอมจมปลักกับความพ่ายแพ้และทางตีบตันของข้อจำกัด ด้วยจิตวิทยาแบบ"มะนาวหวาน"ผ่านคำขวัญ "ประชาธิปไตยต้องมีวิธีการที่สอดรับกับเป้าหมาย"ในลักษณะของการพายเรือในอ่าง
บางคนในกลุ่มนี้ เลยเถิดไปไกลถึงขั้นนำเสนออย่างสุดขั้วว่า”หากไม่สามารถสร้างฉันทามติให้เกิดขึ้นกับคนทั่วทั้งสังคมได้ อย่าหวังเลยว่าจะเกิดประชาธิปไตยได้” ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกสังคมประชาธิปไตยทั้งหลายในโลก ล้วนถือกำเนิดจากครรภ์ของสังคมที่มีความขัดแย้งเป็นพื้นฐาน
           2) กลุ่มที่ต้องการสถาปนาอำนาจรัฐประชาธิปไตยภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์แบบเดิมที่คณะราษฎรทั้งซากเดิมเป็นมรดกบาปเอาไว้ เพราะแยกไม่ออกว่า เมล็ดพันธุ์ของพลังประชาธิปไตยที่แท้จริงจะงอกงามขึ้นได้ ต้องการโครงสร้างอำนาจรัฐกระจายศูนย์ที่เปิดช่องให้กับการมีส่วนร่วมในอำนาจรัฐหลายระดับ
     กลุ่มแรก เริ่มปรากฏตัวชัดเจนยิ่งขึ้นหลังผลการลงประชามติออกมาเรียบร้อย ภายใต้คำขวัญคร่ำครึในขบวนแถวจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ว่าด้วย"ซุ่มซ่อนยาวนาน สะสมกำลัง รอคอยโอกาส" โดยเชื่อมั่นว่า ในยามที่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แล้ว จำต้องทนอยู่ร่วมและ"วิสาสะ"ในสังคมใต้อุ้งเท้าเผด็จการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการเวลา ตามหลักจิตวิทยา "มะนาวหวาน" แม้บางคนเชื่ออย่างเข้าข้างตนเองว่า จะแข็งแกร่งกับจุดยืนที่ไม่ถึงขั้นยอมตน "เลียนมที่หกไปแล้ว"จนสูญเสียอหังการของนักสู้เพื่อประชาธิปไตยจนหมดสิ้น
     กลุ่มนี้ เชื่อว่า พลังเผด็จการที่ไร้ความชอบธรรมย่อมทำลายตนเองจากภายในในอัตราเร่ง ดังนั้นการ"นั่งบนภู ดูเสือ(หรือ สุนัข)กัดกัน" และสะสมพลัง ย่อมมีโอกาสกลับมาสู่ชัยชนะครั้งใหม่ได้
     คำถามที่คนกลุ่มนี้ตอบไม่ได้คือ ชัยชนะที่(เชื่อว่า)กลับคืนมา(โดยไม่ต้องลงมือกระทำใดๆ) นั้น จะเป็นเมื่อใด หรือจริงแท้แค่ไหน
     กลุ่มหลังคือกลุ่มคนที่ยึดติดและชูคำขวัญว่า ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ต้องมีวิธีการที่สอดรับกับเป้าหมาย ไม่หลงทิศทางไปกับเส้นทางการต่อสู้ในเส้นทางอื่นที่"นอกลู่นอกทาง"
     ท่าทีดังกล่าว มีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น แยกไม่ออกจากการยึดอำนาจนำเหนือรัฐด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมผ่านการลองผิดลองถูก ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว
     เส้นทางของ"นักสู้เพื่อประธิปไตยสันติวิธี" ที่หลายคนยกย่องเกินเลยและด้านเดียว อย่าง โมหันดาส คานธี หรือ เนลสัน แมนเดล่า หรือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ หรือ ฯลฯ ในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมไม่เคยปราศจากความรุนแรง ทั้งในสาระ และในทางกายภาพ บนพื้นฐานของรากเหง้าวัฒนธรรม และการเลือกใช้เครื่องมือรูปธรรมในการต่อสู้ ถูกเพิกเฉยที่จะมีการศึกษาอย่างจริงจัง
    การยึดติดกับสูตร"สันติวิธี ไม่มีแพ้"(ซึ่งเป็นเพียงข้อเสนอเชิงยุทธวิธี ไม่ใช่คำขวัญทางยุทธศาสตร์) จึงเป็นการล่ามโซ่ข้อเท้าตัวเองที่บรรดาศัตรูของพลังประชาธิปไตย ฉกฉวยและยินดีรับสมอ้างด้วยความปลื้มปิติอย่างยิ่ง เพราะเส้นทางอื่นของการต่อสู้(พื้นที่สื่อ และ เวทีต่างประเทศ) ไม่สามารถเป็นปัจจัยแห่งชัยชนะได้เลย
    เส้นทางสุดท้าย การต่อสู้ด้วยการจัดตั้งกองกำลัง เป็นทางเลือกสุดท้ายที่ถูกปฏิเสธจากนักประชาธิปไตยไทยมานานกว่า 30 ปี โดยการอ้างถึงฝันร้ายของขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยและอีกหลายประเทศ ในขณะที่คนบางกลุ่มคิดถึงภาพการ"ก่อการร้าย"ไปเลย ทั้งที่มีสาระและกระบวนการแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
   ถ้าหากความรุนแรงที่บรรดาคนในขบวนแถวแนวร่วมเผด็จการกระทำต่อผู้รักประชาธิปไตยซ้ำซาก กลายเป็น"ความชั่วร้ายที่ชอบธรรม" แต่การหยิบอาวุธสร้างกองกำลังขึ้นมาเพื่อป้องกันการต่อสู้ถูกปฏิเสธในฐานะแนวทางที่ชั่วร้ายแล้ว ก็มีคำถามตามว่า ปัจจัยแห่งชัยชนะของพลังประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
    กลุ่มหลัง เป็นกลุ่มคนที่เชื่อว่า พลังประชาธิปไตยที่ยั่งยืนใต้รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งนั้น สามารถเกิดขึ้นและเติบโตขึ้นมาได้ ภายใต้อำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ ที่มีโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐแอบแฝงอยู่ตลอดเวลา
    84 ปีของความล้มเหลวสถาปนาประชาธิปไตยไทย ได้ยืนยันชัดเจนว่าโครงสร้างอำนาจรัฐไทยรวมศูนย์ปัจจุบัน ต้องถูกล้มล้าง และแทนที่ด้วยโครงสร้างรัฐใหม่ที่กระจายอำนาจไปยังคนหลากหลายกลุ่ม อาชีพ ชาติพันธุ์ ภาษา และ วัฒนธรรม เพื่อเปิดทางให้การมีส่วนร่วม กระจายความมั่งคั่ง โอกาส เสรีภาพ และความยุติธรรมขึ้นมา
   พลังประชาธิปไตยภายใต้อำนาจรัฐรวมศูนย์แบบรัฐซ้อนรัฐ เปิดทางให้แนวร่วมเผด็จการสถาปนาอำนาจนำได้ง่ายดาย ฉันใด พลังประชาธิปไตยภายใต้อำนาจรัฐกระจายศูนย์ ย่อมสร้างกระบวนการทำลายหน่อเชื้อของแนวร่วมเผด็จการให้ล่มสลาย และยากจะผุดเกิดได้มาก ฉันนั้น
   ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่า สหพันธรัฐสยาม (ที่นักสู้เพื่อประชาธิปไตยสยาม เห็นพ้องด้วยมากขึ้นต่อเนื่อง) คือ คำตอบของโครงสร้างที่จำเป็น ซึ่งจะถือกำเนิดและหล่อเลี้ยงพลังประชาธิปไตยได้ดีที่สุด ในเวลานี้และในอนาคต
   นักสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่สามารถเปิดกระบวนทัศน์ใหม่ พ้นจากหลุมดำของพลังประชาธิปไตยได้ และเลิกไร้เดียงสา จนสามารถมีความหวังได้ว่า พลังประชาธิปไตยโดยรวม จะสามารถตอบโต้ หรือยันการรุกคืบของแนวร่วมเผด็จการได้ และมีโอกาสสถาปนาอำนาจนำเหนือรัฐสยามได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
   จุดสำคัญคือ นักประชาธิปไตย จะกล้าหาญทางความคิด และจริยธรรม มากน้อยแค่ไหน เพื่อขับเคลื่อนพลังประชาธิปไตยที่ยั่งยืนให้งอกงามขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น