วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561

ดาวฤกษ์ในยามรัตติกาล 2561

ศิวา มหายุทธ์ 
มีนาคม 2561


        ความสำเร็จเบื้องต้นของคนหนุ่มสาวทั้งที่ยังศึกษาอยู่และเพิ่งหลุดจากรั้วมหาวิทยาลัยในนาม"คนอยากเลือกตั้ง" และ MBK39 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เป็น"หลักหมุดสำคัญ" ที่มากกว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับขบวนการประชาธิปไตยยุค คสช.เรืองอำนาจที่ผ่านมาเกือบ4 ปีแล้ว 
       วีรภาพอาจหาญของคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ ในฐานะ"กองหน้าของเสรีภาพร่วมสมัย" ขณะที่กลุ่มพลังอื่นในขบวนแถวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จำต้องกบดานในความเงียบใต้พรมหรือเล่มตามเกมเผด็จการขีดเส้นให้เดิน ตามเหตุผลและความจำเป็น  แม้จะน่ายกย่องทั้งด้านจิตใจและพลังมากเพียงใด แต่การลุกขึ้นสู้ท้าทายกับอำนาจเผด็จการที่มีเครื่องมือครบครันทุกด้าน ไม่ถือว่าเพียงพอสำหรับไปบรรลุเป้าหมายแห่งชัยชนะ และยังคงหมิ่นเหม่ต่อการถูกทำลายล้างได้ตลอดเวลา หากย่างก้าวที่เดินไปเกิดพลาดพลั้งแม้เพียงเล็กน้อย
     จุดเด่นที่สุดของคนหนุ่มสาวพลังประชาธิปไตยกลุ่มนี้ คือ การวางฐานหรือตอกเสาเข็มของกลุ่มเคลื่อนไหวที่เรียกว่า การลุกฮือของมวลชนจำนวนน้อยเพื่อแสดงความไม่พอใจหรือแข็งขืนต่ออำนาจรัฐ (civil unrests) ในฐานะ"ผู้รับไม้และส่งต่อ"จากปัญญาชนเสรีนิยมที่ขาดพลังมวลชนสนับสนุนไปสู่มวลประชาชน ซึ่งถือว่าได้จุดประกายไฟแห่งเสรีภาพให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง ประดุจ"ดาวฤกษ์ในยามรัตติกาล"
     ก้าวย่างจากนี้ไปของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ มีแต่จะต้องยิ่งระมัดระวังมากยิ่งขึ้นด้วย เพราะนับวันจะการเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกจำกัดวงด้วยเครื่องมือเผด็จการสารพัด เพื่อให้พลังของพวกเขาไม่สามารถแปรสภาพหรือก้าวข้าม เพื่อขยายผลให้กลายเป็นการลุกขึ้นมาร่วมสู้ของมวลประชาชน (mass unrests) แถมยังมีความสุ่มเสี่ยง ที่จะถูกข้อกล่าวหาว่าสร้างความวุ่นวายหรือก่อความไม่สงบแก่สังคม (social disorders) หรือ ก่อการจลาจล(riots) ได้ง่ายมากจากฝ่ายที่กุมอำนาจบังคับใช้กฎหมายเผด็จการ จนพลังลดทอนลงไปในฐานะ"ผู้เสียสละตนเองอย่างสูญเปล่า"(false matyrs)
          จุดยากสุด และเปราะบางที่สุด อยู่ที่การเคลื่อนไหวจากนี้ไป จะต้อง"ไม่ล้ำหน้า และไม่ดันทุรัง" เพิกเฉยต่อปัจจัยสนับสนุนรอบข้าง เพื่อลดความสุ่มเสี่ยงของ"ผู้กล้าที่ยังอ่อนต่อโลก" และ"แกนนำผู้มองโลกสวย" เพราะศัตรูของพลังประชาธิปไตยนั้น มีคุณสมบัติครบถ้วน"เจ้าเล่ห์ดุจสุนัขจิ้งจอก อำมหิตกว่าสิงโต"ตามที่แมคเคียเวลลีเคยนิยามเอาไว้หลายศตวรรษก่อน
       ตัวอย่างเฉพาะหน้าที่โดดเด่น เมื่อการเคลื่อนไหว"อยากเลือกตั้ง"สามารถจุดประกายก่อกระแสเรียกร้องหาทวงถามการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ก็ถูก คสช.ใช้เพทุบายช่วงชิงนำเสนอทันควันว่า จะกำหนดวันเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ห่างกันเพียงแค่ 3 เดือน "...แล้วจะเอาอะไรกันอีก" ซึ่งแน่นอนว่าได้ผลกลบกระแสในระดับหนึ่ง ซึ่งเล่ห์เหลี่ยมเหล่านี้ คนหนุ่มสาวพลังประชาธิปไตยจะต้องไม่ประเมินต่ำเกิน
      การแปรและยกระดับจาก civil unrests ของพลังคนหนุ่มสาวประชาธิปไตยให้เป็น mass unrests เพื่อให้การเคลื่อนไหวต่อสู้อำนาจเผด็จการ มีฐานรองรับดุจ"ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก" ถือเป็นความจำเป็น พร้อมกับเป็นความยากลำบาก”บนเส้นทางที่คดเคี้ยว”อย่างมาก เพราะขบวนการเคลื่อนไหวแบบเปิดของการต่อสู้แนวทางนี้ แตกต่างทั้งสาระและรูปแบบสิ้นเชิงกับการเคลื่อนไหวต่อสู้แบบปิดลับของ"นักรัฐประหารฝ่ายขวาจัด"(rightist coup d'tat attempts) และ"ขบวนการปฏิวัติด้วยกองกำลัง"(armed revolutions) 
       บนเส้นทางนี้ หากมองย้อนไปศึกษาบทเรียนในอดีตของขบวนการนักศึกษา และมวลประชาชน ที่เลือกแนวทางเคลื่อนไหวต่อสู้แบบ civil unrests ในอดีตที่มีทั้งสำเร็จ และล้มเหลว เพื่อนำมาปรับใช้ในปัจจุบันและอนาคต สามารถยกตัวอย่างให้เห็นเป็นกรณีศึกษาดังนี้
          
- ขบวนการนักศึกษาจีน 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919
ในวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 นักศึกษาราว 3 พันคน จากมหาวิทยาลัย 13 แห่งในกรุงปักกิ่ง ได้รวมตัวกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อต่อต้านมติของที่ประชุมสันนิบาตชาติกรุงปารีสในปี ค.ศ. 1919 ที่ยอมรับข้อตกลงลับอังกฤษ-ฝรั่งเศส กับญี่ปุ่น(ทำไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1917) โอนมอบสิทธิ์เช่าเหนือดินแดนจีนในส่วนของเยอรมนีในมณฑลซานตงให้กับญี่ปุ่นแทน โดยอ้างว่าเพื่อรักษาเอกภาพของสันนิบาตชาติ แม้ตัวแทนของฝ่ายจีนในยุคขุนศึกจะค้านว่า มิได้รับรู้ถึงข้อตกลงระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสกับญี่ปุ่น แต่ก็ขาดพลังและทำไปพอเป็นพิธีอย่างสมยอม
การชุมนุมขยายตัวไปสู่การใช้ความรุนแรง ถึงขั้นบุกเผาบ้านของรัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร ในข้อหาเป็นคนขายชาติเอนเอียงเข้าข้างญี่ปุ่น มีการจับกุมผู้ชุมนุมไปราว 30 คน ยิ่งทำให้การชุมนุมกระพือแสดงพลังชาตินิยมขยายไปทั่วประเทศนานหลายสัปดาห์ ผู้ชุมนุมถูกจับกุมมากกว่า 1,000 คน ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้ประชาชนโกรธแค้นและเข้าร่วมด้วยมากยิ่งขึ้น กรรมกรในเซี่ยงไฮ้ได้นัดหยุดงาน และกลุ่มธุรกิจร่วมนัดกันหยุดค้าขายเพื่อร่วมประท้วงด้วย แรงกดดันทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกควบคุมตัว พร้อมกับตัดสินใจปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญา
ผลพวงต่อเนื่องของการชุมนุม 4 พฤษภาคม ถูกส่งต่อไปสู่การปลุกพลังประชาชนให้เพิ่มจิตสำนึกความรักชาติ ต่อต้านจักรวรรดินิยม และการเคลื่อนไหววัฒนธรรมจีนใหม่ในเวลาต่อมา

         - ขบวนการนักศึกษาปารีส ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1968


ความตึงเครียดทางสังคมที่ยืดเยื้อ จากผลพวงของสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็นในยุโรป ระเบิดออกมาเป็นการประท้วงทั่วประเทศของนักศึกษาฝรั่งเศสในปารีสเพื่อยึดอาคารมหาวิทยาลัยสำคัญ และคนงานเข้ายึดโรงาน โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมนาน 2 สัปดาห์ มากถึง 22% ของจำนวนประชากร แม้การประท้วงจะไม่มีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลฝรั่งเศส แถมยังทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสแกร่งกว่าเดิม แต่ก่อผลสะเทือนยิ่งใหญ่ ที่เรียกกันว่า“การปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งที่ 2” โดยเกิดการหักเหของกระบวนทัศน์ทางสังคมที่เข้มข้น เกิดความเฟื่องฟูของขบวนการซ้ายใหม่ และการปฏิเสธคุณค่า/ระบบสังคมเก่าทั่วยุโรปและทั่วโลกอย่างถอนราก เข้าสู่ยุค"แสวงหาจิตวิญญาณใหม่"อย่างจริงจังในทศวรรษต่อมา
ความเชื่อมโยงระหว่างนักศึกษาและสหภาพแรงงานกรรรมกรคือจุดเด่นที่สำคัญยิ่งของการเคลื่อนไหวนี้ แม้จะจบลงอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ผลชัยชนะหรือพ่ายแพ้ของการต่อสู้


- ขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐฯ ค.ศ. 1968


อิทธิพลจากขบวนการนักศึกษาและกรรมกรในฝรั่งเศสได้ข้ามฟากไปยังสหรัฐฯในทันที ส่งผลให้การต่อต้านสงครามเวียดนามในกลุ่มคนจำนวนน้อย ที่บ่มฟักตัวเงียบๆมานานกว่า 4 ปี แพร่ขยายทั่วประเทศ เพราะข่าวสารอันรวดเร็วที่บอกถึงกองทหารสหรัฐฯยุคปลายสงครามเย็น ที่ถูกส่งไปรบในเวียดนามใต้ และการปูพรมถล่มเวียดนามเหนือ นำมาซึ่งการตั้งคำถามว่าความสูญเสียจาก"สงครามที่ไร้ประโยชน์และเป้าหมาย" ที่ทำให้คนหนุ่มอเมริกันต้องตายและบาดเจ็บนับแสนคน รวมทั้งงบประมาณมหาศาลที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯซวนเซ จนต้องฉีกข้อตกลงเบรตัน วูด เพื่อลอยตัวดอลลาร์ มีความจำเป็นเพียงใด
จากจุดเริ่มต้นการประท้วงที่ มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ ได้กลายเป็นการเคลื่อนไหวแสดงพลังของคนหนุ่มสาวอเมริกันที่บ่งบอกถึงความไม่พอใจที่เกินกว่าแค่สงครามในเวียดนาม แต่ขยายความเป็นการปฏิเสธ “ระบบเก่า”ทางการเมือง-เศรษฐกิจ ยกระดับเป็น"ขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมือง” (Civil Rights Movement) ที่พลิกคุณค่าของสังคมอเมริกันอย่างสิ้นเชิง นำไปสู่การถอนตัวจากสงครามเวียดนาม และความพ่ายแพ้ของรัฐบาลหุ่นในเวียดนามใต้
บทเรียนของการเคลื่อนไหวดังกล่าวคือ การยกระดับจากเรื่องเฉพาะกลุ่มให้กลายเป็นพลังปรับเคลื่อนทางสังคมอย่างทั่วถึง


- ขบวนการนึกศึกษา 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ของไทย


การเร่งเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมภายในศตวรรษเดียวจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลทหารภายใต้การชี้แนะของสหรัฐฯเพื่อทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ส่งผลต่อความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และเกิดความเหลื่อมล้ำชนิดถึงขั้นคนจนเข้าคิวซื้อข้าวสาร แต่คนร่ำรวยหยิบมือเดียวมีความสุขล้นฟ้ากับการสมคบคิดสังคมเมืองที่เติบใหญ่ เริ่มพลิกผันมากเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจหลังจากการลอยตัวดอลลาร์ และการถอยร่นของอเมริกาในสงครามเวียดนาม ถูกเร่งให้เกิดการเคลื่อนตัวใหม่กับพลังของแนวคิดระลอกใหม่ที่"ไหลบ่าจากตะวันตก"โดยปัญญาชนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยที่จบจากต่างประเทศ ทำให้สังคมไทยที่ผู้คนเบื่อหน่ายกับระบบปกครองใต้อำนาจกองทัพในยุคสงครามเย็นยาวนานจากการใช้อำนาจเผด็จการบีบกดสิทธิเสรีภาพภายใต้ข้ออ้างปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่เกินเลย ผสมกับข้อเท็จจริงซ้ำซากจากผลการที่ต่างชาติมาลงทุนตั้งโรงงานเพื่อขูดรีดกำไรจากค่าแรงขั้นต่ำ และการกดราคาสินค้าเกษตรให้เกษตรกรยากจนต้องอพยพเข้าเมืองต่อเนื่อง รวมทั้งการเปิดทางให้ตั้งฐานทัพอเมริกันทั่วประเทศเพื่อรุกรานชาติเพื่อนบ้านอย่างเปิดเผย
แรงปะทุรอบด้าน เปิดช่องให้กลุ่มนักศึกษาที่มีอิสระในการเคลื่อนไหวมากที่สุดในยามนั้นทำการประท้วงการเดินขบวนหลายครั้ง เริ่มจากการต่อต้านความฉ้อฉลในจุฬาลงกรณ์ ตามมาด้วย การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น แล้วลงเอยด้วยต่อต้านเผด็จการหลังจากทหารถนอม-ประภาสรัฐประหารตัวเอง จนกระทั่งเกิดการรวมพลังครั้งใหญ่ต่อต้านการจับกุมกลุ่มเคลื่อนไหว เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ขบวนนิสิตนักศึกษายุค"ฉันจึงมาหาความหมาย"เป็นกองหน้าในเดือนตุลาคม 2516 สอดรับกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน และได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนกลุ่มต่างๆในสังคมไทยที่ต้องการยุติบทบาทโดยตรงของรัฐบาลทหาร
พร้อมกับความเคลื่อนไหวนี้ บทเรียนสำคัญที่ต้องบันทึกไว้คือ นี้เป็นจุดเริ่มต้นการแสดงพลังทางการเมืองของพลัง"เครือข่ายราชสำนัก"ในฐานะนำ ทดแทนบทบาทของคณะทหารเป็นครั้งแรก
แม้ว่าความพยายามขยายผลส่งต่อบทบาทเพื่อพลังประชาธิปไตยไปยังกลุ่มพลังอื่นๆของสังคม จะทำได้ไม่นาน เมื่อเกิดการรัฐประหารดึงสังคมกลับสู่วงจรอำนาจแบบเดิมในการรัฐประหารนองเลือดเดือนตุลาคม 2519 ที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองนานหลายปี ก็ถือว่านี้คือ”หลักหมุดใหญ่”ของพลังประชาธิปไตยโดยพลังหนุ่มสาวที่มีความหมายยิ่ง
          
- ขบวนการนักศึกษาและประชาชนต้านเผด็จการแห่งกวางจู เกาหลีใต้ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980


การรัฐประหารของกลุ่มนายทหารเกาหลีใต้นำโดย ชุน ดู ฮวาน ในปี ค.ศ. 1979 ทำให้ความหวังของประชาชนที่เกิดขึ้นมาจากคำสัญญาของรัฐบาลยุคหลังเผด็จการ ปัก จุง ฮี ถูกลอบสังหาร ซึ่งจะเปิดเสรีภาพแก่พลเมือง ปล่อยนักโทษการเมือง และจะให้มีการเลือกตั้ง ต้องถูกปิดตายลงอีกครั้ง ก่อกระแสให้ประชาชนทั่วประเทศคัดค้าน แต่ถูกกองทัพใช้กำลังปราบปรามอย่างเด็ดขาด ด้วยข้ออ้างเรื่องการคุกคามของเกาหลีเหนือ มีการการขยายกฎอัยการศึก ในการปิดมหาวิทยาลัย ห้ามการเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง การเพิ่มข้อจำกัดในการชุมนุมของฝูงชน และยกกองกำลังทหารเข้ายึดเมืองทั่วประเทศ แต่พลังจัดตั้งอันเข้มแข็งของนักศึกษาและประชาชนเมืองกวางจู ได้ร่วมมือกันต้านทานกองทัพได้อย่างเข้มแข็ง โดยในวันที่ 18 พฤษภาคม ได้จัดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วทั้งเมือง มีประชาชนเข้าร่วมมากกว่าหนึ่งแสนคน แต่รัฐบาลชุน ดู ฮวาน มีคำสั่งให้หยุดการชุมนุม และส่งกองกำลังทหารเข้าปราบปราม ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อปกป้องเมือง จนสามารถยึดศาลากลางและสถานีตำรวจ พร้อมทั้งขับไล่กองทหารออกจากเมืองไปได้  ทำให้กองทหารนับหมื่นคนถูกระดมจากชายแดน ด้วยการส่งไฟเขียวของสหรัฐฯกว่า 2 หมื่นคน ปิดล้อมเมือง และตัดการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เข้าล้อมปราบปรามครั้งใหญ่และยึดสถานที่สำคัญคืน นำไปสู่การฆาตกรรมหมู่กว่า 500 คน บาดเจ็บกว่า 3,000 คน ตลอดระยะเวลาสองวัน ทำให้ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยล่มสลาย ผู้นำนักศึกษา คิม แด-จุง ถูกจับกุมและตัดสินประหารชีวิต(แต่รอดมาได้)
แม้การต่อสู้ที่กวางจูจะจบลงด้วยหายนะ แต่การล่มสลายทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จนต้องมอบตัวขอรับความช่วยเหลือต่างประเทศ และแรงบีบคั้นจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลต่อมาจำต้องขานรับข้อเรียกร้องให้แสวงหาข้อเท็จจริงของการสังหารหมู่ เพื่อนำคนที่ทำผิดมาขึ้นศาลให้ลงโทษและจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ ในอีก20 ปีต่อมา กลายมาเป็นบรรทัดฐานให้กับการออกกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ตามมาอีกหลายฉบับ ซึ่งเป็นเสาหลักปกป้องสิทธิเสรีภาพและขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายเพื่อยกย่องประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม การเยียวยาความสูญเสีย และการค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ รวมทั้งปลูกฝังจิตวิญญาณรักประชาธิปไตยให้เยาวชนตั้งแต่เล็กๆ สร้างความมั่นคงแก่ขบวนการประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน

- ขบวนการกรรมกร Solidarity ในโปแลนด์ ค.ศ. 1989
วิกฤตราคาน้ำมันโลก ค.ศ. 1973 และความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตและรัฐสังคมนิยมใต้สนธิสัญญาวอร์ซอว์ ที่ตามมาด้วยนโยบาย Glasnost และ Perestroika ของรัฐบาลมอสโคว์ ทำให้ชาติในยุโรปตะวันออกถูก"ลอยแพ" ทันควัน จนต้องขึ้นราคาสินค้าทั่วไป ขณะที่สินค้าขาดแคลน แต่ความพยายามการกดค่าจ้างให้คงที่ นำไปสู่การประท้วงและการปราบปรามของรัฐบาล มีผลให้เกิดกลุ่มเครือข่ายใต้ดินของกรรมการท่าเรือโปแลนด์ เพื่อตรวจสอบและต่อต้านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของรัฐ เป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มสหภาพกรรมกร ที่สั่นคลอนฐานะของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ หลังผ่านการต่อสู้ยาวนาหลายปี เปิดทางให้กับเวทีเสรีประชาธิปไตยครั้งใหม่ ได้สำเร็จ สลัดคราบเงารัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จโซเวียตหมดจด
บทเรียนจากการสร้างเครือข่ายใต้ดินและเลือกเวลาที่เหมาะสมในการต่อสู้ตามสถานการณ์ เพื่อลดความสูญเสียอย่างอดทน เป็นจุดเด่นที่สามารถเป็นกรณีศึกษาของพลังประชาธิปไตยทั่วโลก มาจนถึงปัจจุบัน

- การลุกฮือเมืองไลป์ซิก และการชุมนุมทุกคืนวันจันทร์ ในเยอรมันตะวันออก ก่อนกำแพงเบอร์ลินล่ม ค.ศ. 1989 การถูกสหภาพโซเวียตลอยแพทางเศรษฐกิจ ทำให้กองกำลังตำรวจลับStasi ของรัฐบาลเยอรมันตะวันออก ถูกลดพฤติกรรมเข้มงวดลง เปิดช่องให้กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ไม่พึงพอใจอำนาจคอมมิวนิสต์ ใช้ช่องทางรวมตัวจัดตั้งตลาดนัด และดัดแปลงงานรำลึกวันสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ให้กลายเป็นการชุมนุมสำแดงพลังกระจายตัวไปทั่วประเทศ จากเล็กสู่ใหญ่ จากการกระซิบสู่การร่วมตะโกน ร้องเพลงต่อต้าน และเคลื่อนขบวนเรียกร้องเสรีภาพ แม้จะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับกุม
ขบวนการนี้ใช้เวลาบ่มเพาะนานกว่า 3 ปี ก่อนจะเริ่มผลิดอกออกผลเมื่อมีแกนนำเริ่มจัดตั้ง และสร้างข้อเรียกร้องให้"งดลงคะแนน"ในคูหาเลือกตั้งจอมปลอมของเทศบาลทั่วประเทศปี ค.ศ.1989 ที่ตามมาด้วยการนัดชุมนุม"สวดมนต์เพื่อสันติภาพ"ที่โบสถ์กลางเมืองไลป์ซิก แล้วกลายสภาพเป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผย ผ่านการ"นัดชุมนุมทุกคืนวันจันทร์"(Monday Night Demonstrations) ที่เบิกโรงให้กับข้อเรียกร้องต่อต้านเผด็จการคอมมิวนิสต์ ที่เรียกว่า "การริเริ่ม'89" ที่ประกอบด้วยหลายกลุ่มจัดตั้ง เช่น Neues Forum (New Forum), Demokratie Jetzt (Democracy Now), and Demokratischer Aufbruch (Democratic Awakening) จนกระท้่งนำไปสู่การนัดชุมนุมข้างกำแพงเบอร์ลิน วันที่ 4 พฤศจิกายน 1989 ซึ่งมีคนเข้าร่วมมากกว่า 1 ล้านคน จนกระทั่งรัฐบาลเยอรมันตะวันออกต้องประกาศผ่อนปรนให้เดินทางข้ามไปมาเสรีระหว่างตะวันออกกับตะวันตกได้ เป็นที่มาของการทะลายกำแพงเบอร์ลิน และสิ้นสุดอำนาจเผด็จการคอมมิวนิสต์เยอรมันตะวันออก ขณะที่ต่อมากลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย ก็แยกย้ายกันเข้าผนึกกำลังกับพรรคการเมืองเยอรมนีที่รวมชาติกันใหม่ในปัจจุบัน รวมทั้งนายกรัฐมนตรี อังเกล่า แมร์เคิล แห่งพรรคคริสเตียน เดโมแครตปัจจุบันด้วย
           
- การลุกฮือต่อต้านเผด็จการ”เสียสัตย์เพื่อชาติ” พฤษภาคมทมิฬ พ.ศ.2535


หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 คณะทหาร จปร.รุ่น5 เรียกตัวว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ได้นำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีการตั้งรัฐบาลชั่วคราว แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยที่พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำรัฐประหารระบุหลายครั้งว่า ตนและสมาชิก รสช.ในจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ
หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง เริ่มกระแสการเมืองแบ่งขั้วเป็น พรรคเทพ-พรรคมาร ชัดเจน ระหว่างพรรคที่ประกาศตัวชูกระแส"นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง" กับพรรคที่สนับสนุนพลเอกสุจินดา คราประยูร เพื่อพยายามสืบทอดอำนาจของ รสช. อันเป็นชนวนการประท้วงชุมนุมต่อต้าน"เสียสัตย์เพื่อชาติ" ของกลุ่มต่างๆ ทั้งนักการเมือง นักศึกษา และกลุ่มพลังอื่นๆ โดยเฉพาะ"ม้อบมือถือ" ชนชั้นกลางในกรุงเทพและปริมณฑล มีแกนนำคือพลตรีจำลอง ศรีเมือง พากันชุมนุมเรียกร้องให้พลเอกสุจินดา นายกรัฐมนตรีลาออกอย่างยืดเยื้อตั้งแต่เดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม โดยรัฐบาลเริ่มระดมทหารเข้ามารักษาการในกรุงเทพมหานคร จนเกิดเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในบริเวณราชดำเนินกลาง มีการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางจุด และมีการบุกเผาสถานีตำรวจตำรวจนางเลิ้ง จนรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมและในบริเวณถนนราชดำเนินและเข้าสลายการชุมนุมซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน แต่การประท้วงกลับแพร่ขยายไปไม่หยุด นำมาซึ่งการลาออกของพลเอกสุจินดา และการหมดอำนาจของ รสช.ในเวลาต่อมา
การลุกฮือครั้งนี้ ได้เร่งให้เห็นชัดเจนถึง ความสามารถในการแทรกจังหวะเพื่อสร้างอิทธิพลของ"เครือข่ายราชสำนัก"ในการแย่งชิงการชี้นำทิศทางการเมืองในจังหวะวิกฤต อย่างมีนัยสำคัญเหนือพลังมวลชน


-  ขบวนการลุกฮืออาหรับสปริงส์ ในแอฟริกาเหนือ และ ตะวันออกกลาง ค.ศ. 2010


จากการลุกฮือที่เริ่มต้นในอัลจีเรีย จนสามารถโค่นล้มอำนาจรัฐเผด็จการที่ผูกขาดครองอำนาจมายาวนานโดยไม่คาดฝัน แล้วแพร่กระจายลุกลามไปยังอียิปต์และตะวันออกกลางอื่นๆ จนเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นตำนานของสิทธิเสรีภาพในโลกอาหรับ ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ก็จบลงอย่างรวดเร็วไม่กี่เดือนเท่านั้น
การลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในเวลารวดเร็วเกินคาด และความไม่พร้อมทางอุดมการณ์จัดตั้ง และประสบการณ์ ทำให้เจตนาอันดีงามของการลุกฮือจากพลังประชาชนรากหญ้า ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมืองที่ถูกออกแบบไว้ในยุคเผด็จการ และมีแต่ความเพ้อฝันถึงการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถเป็นจริงทางปฏิบัติ  (ตัวอย่างที่ชัดเจนในอียีปต์ ที่กลุ่มนักเสรีนิยมในประเทศไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ ต้องถูกกลุ่มจัดตั้งเคร่งศาสนาอย่างกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ที่ไร้ประสิทธิภาพทางการบริหารสามารถชนะการเลือกตั้งเข้ามาได้ และเปิดช่องให้กองทัพอียิปต์ฉวยโอกาสทำการยึดอำนาจ) ทำให้ชัยชนะที่ได้รับมาเป็น”ไฟไหม้ฟางชั่วขณะ”เท่านั้น เพราะไม่สามารถสลัดทิ้งวัฏจักรแห่งความชั่วร้ายของจารีตทางการเมืองเดิมไปได้ จนต้องถูกดึงให้หวนกลับอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการรูปแบบเดิมๆอีกครั้งอย่างสูญเปล่า
             
- การลุกฮือของมวลชนจัดตั้งต้านรัฐประหารตุรกี 15 กรกฎาคม ค.ศ.2016


กลุ่มนายทหารระดับกลาง (นำโดยนายทหารไม่ถึง 140 นาย ยศแค่ระดับพันเอก-ร้อยโท) เรียกตนเองว่า Peace at Home Council นำกองกำลัง รถถัง และเฮลิคอปเตอร์เข้ายึดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในกรุงอังการาและอิสตันบูล เพื่อรัฐประหารโดยไม่ทราบด้วยสาเหตุแจ้งชัด ในช่วงที่ประธานาธิบดีเรเจป แอร์โดอัน แห่งพรรคเคร่งศาสนา (พรรคยุติธรรมและการพัฒนา-AKP)อยู่ระหว่างการพักร้อน โดยที่ตัวแอร์โดอันสามารถออกมาเรียกร้องให้มวลชนจัดตั้งของพรรคAKP ที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำที่มีแนวความคิดอนุรักษนิยมทางศาสนา ออกมาชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐประหาร
การรัฐประหารในตุรกีไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะช่วง 1 ศตวรรษนับแต่ เคมาล อตาเติร์กนำขบวนการแห่งชาติตุรกี เปลี่ยนแปลงจากจักรวรรดิออตโตมันเดิมให้เป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่ไม่อิงศาสนาและเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก มีการแทรกแซงการเมืองของฝ่ายทหารครั้งใหญ่มาแล้วถึงรวม 5 ครั้ง ขณะที่นโยบายพรรคAKP ก็หมิ่นเหม่เพราะอิงแนวทางจารีตอิสลามเคร่งศาสนาที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ
ชาวมุสลิมเคร่งครัดจารีตทั้งหลายของพรรคAKPที่ถูกจัดตั้งมา ตะโกนคำขวัญสนับสนุนรัฐบาลด้วยภาษาอาหรับ และแต่งกายแบบชาวตะวันออกกลาง ถูกสมทบด้วยชนชั้นกลางที่มีแนวความคิดต้องการให้แยกศาสนาออกจากรัฐ (ที่เดิมขัดแย้งกันเป็นปกติ) ร่วมกันหลั่งไหลออกมาเต็มจัตุรัสใน 4 เมืองใหญ่และเมืองอื่นทั่วประเทศ เกิดการปะทะทำให้มีคนล้มตายมากถึง 208 คน มีผลให้การก่อรัฐประหารล้มเหลว และรัฐบาลกลับมาควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ พร้อมการกวาดล้างครั้งใหญ่ มีจับกุมและสั่งพัก, โยกย้าย, ปลด, หรือ คุมขัง พนักงานรัฐ ที่เป็นทั้งทหาร, ตำรวจ, ผู้พิพากษา-อัยการ, และข้าราชการพลเรือนเกือบ 20,000 คน ในปฏิบัติการใช้บัญชีรายชื่อที่ได้จัดทำเตรียมไว้ก่อน เสมือนแผนซึ่งวางกันไว้แล้ว ภายใต้ข้ออ้างว่า คนเหล่านี้สนับสนุนการรัฐประหารที่มีเฟตฮุลเลาะห์ กูเลน ผู้สอนศาสนาอิสลามแนวทางซูฟีซึ่งลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯอยู่เบื้องหลัง การกวาดล้างดังกล่าวเท่ากับพรรค AKP กำลัง"ลอกคราบ"กระบวนการแปรไปเป็นแบบตะวันตกที่ดำเนินมากว่า 100 ปีในตุรกี ให้เดินทางไปตรงกันข้ามโดยพฤตินัยกับเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางความขัดแย้งในประเทศที่ยังคุกรุ่น รอปะทุเป็นระยะๆ
       
บทเรียนจากการต่อสู้ของพลังคนหนุ่มสาวทั้งนักศึกษา และประชาชน ที่ยกมาทั้งหมด ชี้ชัดว่า ขบวนการต่อสู้เพื่อสถาปนาประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องของการสร้างวีรบุรุษหรือตัวร้าย และไม่สามารถพึ่งพาสูตรสำเร็จอย่างเป็นเส้นตรง ไม่มีกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์เดียว แต่ผู้ที่เข้าร่วมการต่อสู้ ต้องตระหนักว่า การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารและรัฐ ไม่ใช๋”งานเลี้ยงเคลื่อนที่" แต่อันตรายจากการแข็งขืนต่อเผด็จการผู้เปราะบาง(ต่อแรงกดดันที่ท้าทาย) ที่เต็มไปด้วยความเจ้าเล่ห์แสนกลและเหี้ยมเกรียมเลือดเย็นในการใช้อำนาจ มีรอบตัว
   ยิ่งกว่านั้น ความจำเป็นของการครุ่นคิดเพื่อออกแบบสร้างสถาบันทางการเมือง หลังการล่มสลายของอำนาจเผด็จการควบคู่ไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิด"ชัยชนะชั่วครู่ยามดุจสายลม”ก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการต่อสู้เฉพาะหน้า
      ที่สำคัญ กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย เป็นมากกว่าแค่จะโค่นล้มใคร แล้วเอาใครมาแทน แต่ต้องเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่โครงสร้างใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ พฤติกรรมใหม่ และการออกแบบเชิงสถาบันใหม่ เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายที่มีอยู่กว้างขวาง ภายใต้สถาบันใหม่ๆที่แทรกตัวเข้ามาในองค์ประกอบทางสังคมเดิมด้วยในรูปแบบ”คัดกรอง”ให้เหมาะสม
ความสำเร็จและล้มเหลว ในขบวนการต่อสู้บนเส้นทางสู่ประชาธิปไตย มีโอกาสเป็นไปได้เสมอ แต่จิตใจที่วีระอาจหาญในการท้าทายอำนาจรัฐเผด็จการ เป็นเจตนารมณ์อันทรงคุณค่า ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวในภายหน้า พึงได้รับการสานต่ออย่างสร้างสรรค์

ผู้เขียน เชื่อมั่นว่า ความกล้าหาญของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ที่หาญกล้าถึงขั้น”เอาหัวพาดเขียง”ท้าทายเผด็จการทหารเพื่อปลุกเร้ามวลชนให้”ปรากฏตัว”ออกมาร่วมสู้ จะประสบความสำเร็จ หรืออาจตรงกันข้าม เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย”ยังกินอิ่ม นอนหลับ ปรับตัวสามารถอยู่ได้ในทุกสถานการณ์”หรือ”คสช.พกความรู้ พกประสบ การณ์ มาด้วย เขารู้ว่าจะต้องทำอะไรเพื่อประคองตัวให้อยู่ไปได้”ดังที่หลายคนปรามาสไว้ และขอตอกย้ำว่า ยุคสมัยแห่งความมืดมนดุจรัตติกาลของประชาธิปไตยและเสรีภาพ อยู่ในกำมือคนหนุ่มสาวเหล่านี้แล้ว ในขณะที่กลุ่มอื่นอาจมีหลายอย่าง ยกเว้นความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้มีอยู่เต็มเปี่ยม ดุจดาวฤกษ์อันส่องสว่างในตัวเอง ควรแก่การก้มหัวคารวะ

วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561

ความสูญเปล่าเจือยาพิษ : บทวิพากษ์ อปท. ฉันมิตร

ศิวา มหายุทธ์ 

มกราคม 2561


   ปฏิกิริยาแรกสุดของผู้เขียน เมื่อได้อ่าน "สาส์นถึงประชาชนเนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2561" เผยแพร่โดย องค์การเพื่อประชาธิปไตยไทย (อปท.) เมื่อวันที่ ​​​​​​​1 มกราคม พ.ศ. 2561 คือคำถามว่า 1) นี่เป็นเอกสารชี้นำทางการเมืองหรือไม่? 2) ถ้าไม่(เพราะอ้างว่า เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน)ทำไมจึงมีลักษณะเช่นนี้ ว่างกันมากหรืออย่างไร? 3)  ถ้าใช่ ทำไมจึงน่าเวทนาในการนำเสนอที่อ่อนด้อยทั้งทางพื้นฐานทางปัญญา และ ข้อเสนอเช่นนี้?
ต่อมา มีมิตรสหายในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยบอกย้ำว่า มีคนนำเอกสารดังกล่าวไปเผยแพร่ และใช้อ้างอิงกันค่อนข้างแพร่หลายกันพอสมควร จึงเห็นว่า จำต้องออกมาแสดงท่าทีกันแบบฉันมิตรที่ตรงไปตรงมาบ้าง ก่อนที่กระแสความหลงผิดจะเตลิดไปไกลเสมือน"ว่าวสายป่านขาด"จนกู่ไม่กลับ
เอกสารนี้ เริ่มต้นด้วยคำว่า การปฏิวัติประเทศไทย พร้อมกับตามมาด้วยสูตรสำเร็จของการวิเคราะห์สภาพสังคมไทย ก่อนจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการเมืองเพื่อการต่อสู้รูปธรรม
โดยไม่ได้เน้นย้ำว่าแนวทางไหนที่เหมาะสมกับทิศทางของการต่อสู้ 
แม้เอกสาร อปท. จะมีการเรียบเรียงหัวข้อที่สะเปะสะปะอย่างมาก แต่สามารถจับใจความได้ออกมา ดังต่อไปนี้ 







     จากสาระที่วิเคราะห์ให้กระชับของเอกสาร อทป.ข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า แม้จะใช้ความพยายามใช้ท่าทีวิพากษ์ฉันมิตรมากเพียงใด ก็ไม่สามารถสรุปเป็นอื่นได้ว่า เอกสารของ อปท.ที่เผยแพร่ออกมานี้ มีสภาพเป็น"ความสูญเปล่าเจือยาพิษ"ต่อขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสยามอย่างแท้จริง เพราะหากใช้มาตรวัดแบบอันโตนิโอ กรัมชี่แล้ว ถือว่าสาระของเอกสาร นอกจากไม่สามารถก้าวข้าม”สงครามทางอุดมการณ์(และวัฒนธรรม)" ยังไม่สามารถก้าวข้าม"สงครามขับเคลื่อนทางการจัดตั้ง"ได้แม้แต่น้อย ย้อนแย้งอย่างสิ้นเชิงกับข้อเรียกร้องท้ายเอกสารที่เสนอให้"สรุปบทเรียน สามัคคีกัน สนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมกันต่อสู้และผลักดันให้สถานการณ์การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม ก้าวรุดหน้าไปอีกก้าวใหญ่"

ผู้เขียนขอชี้อย่างย่นย่อว่า เอกสาร 1 มกราคม 2561 ของ อปท. มีจุดบกพร่องร้ายแรง 7 ประการ คือ

1) ไม่รอบรู้สถานการณ์ของเศรษฐศาสตร์การเมืองระดับโลกที่หลายปีมานี้ มีพลวัตสูงยิ่ง จนไม่สามารถใช้มุมมองและข้อสรุปแบบในยุคสงครามเย็นได้อีก การกล่าวถึงภัยร้ายของจักรวรรดินิยมอเมริกาโดยไม่พูดถึงจีนเลย ถือเป็นความไร้เดียงสา หรือ เจตนาเบี่ยงเบนทางทฤษฎี ที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของข้อเสนอ
2) ขาดความแม่นยำทางทฤษฎีโดยพื้นฐาน ไม่สามารถวิเคราะห์ความขัดแย้งพื้นฐาน–ความขัดแย้งหลัก-ความขัดแย้งรอง ได้กระจ่างชัด ผลลัพธ์คือเกิดสภาพ”มองเห็นต้นไม้ แต่ไม่เห็นป่า”โดยปริยาย
3) ประเมินอำนาจของทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ (ทุนกษัตริย์)สูงเกินไป จนมองข้ามพลังอื่นๆของ”โต๊ะแชร์ทางผลประโยชน์ทางอำนาจอนุรักษ์นิยม” ที่เอื้อประโยชน์และประสานกันเป็นแนวร่วมเผด็จการสมคบคิด (เช่น ทุนผูกขาด ทุนสัมปทาน เทคโนแครตที่เป็นชนชั้นนำภาครัฐ และกลุ่มพลังที่ซ่อนตัวหาประโยชน์ใต้เครือข่าย) ภายใต้สถานการณ์ที่สมบูรณาญาสิทธิราชไม่สามารถหวนคืนอย่างเปิดเผยดังในรูปแบบของอดีต
4) ความไม่สามารถก้าวข้ามสงครามอุดมการณ์ ทำให้ความพยายามขับเคลื่อนสงครามทางการจัดตั้งด้วยการนำเสนอหนทาง ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี เต็มไปด้วยความสับสน และย้อนแย้งกันในตัวเอง
5) ที่มาของข้อสรุปอย่างรวบรัดว่า ขั้นตอนของการต่อสู้ในปัจจุบัน ถือเป็น การปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน ยังคงเป็นไปตามจารีตเดิมของแนวคิดเหมา เจ๋อ ตง ที่พ้นยุค เพราะไม่ได้มีการประเมินรากเหง้า สถานภาพ และ”จิตสำนึกเทียม”ของชนชั้นนายทุนไทย และโดยเฉพาะพันธมิตรสำคัญอย่างชนชั้นกลางในเขตเมืองใหญ่ ที่มีความโน้มเอียงยึดติดในความมั่นคงปลอดภัยทางจิตใจและสถานภาพทางสังคมที่คุ้นเคยกับระบบสายสัมพันธ์เดิมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมและอำนาจรัฐ ถึงขั้นพร้อมปฏิเสธการขับเคลื่อนต่อสู้ของขบวนแถวประชาธิปไตยได้เมื่อจำเป็น
6) ยุทธวิธี “ลุกขึ้นสู้พร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อสถานการณ์สุกงอม” ซึ่งเป็นรูปแบบการต่อสู้ปฏิวัติที่ อปท.สรุปว่า “เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน” นอกจากไม่สามารถพิสูจน์ไดว่าจะเป็นจริงได้อย่างไรกับการ ”กินข้าวทีเดียวหมดทั้งหม้อ” ยังเป็นการหวนกลับไปพึ่งพายุทธวิธีแบบทร็อตสกี้ อันสุ่มสี่ยงต่อการถูกทำลายยิ่ง (ปฏิเสธกองกำลังติดอาวุธ ปฏิเสธการต่อสู้สันติวิธี แต่เน้นการจัดตั้งมวลชนในเขตเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ให้การศึกษาแบบซุ่มซ่อนยาวนาน จนกระทั่งถึงเวลาก็ลุกฮือขึ้นต่อสู้โดยไม่ต้องวางแผนทั่วไป หรือไม่ต้องมีการชี้นำจากองค์กรจัดตั้งที่เป็นพรรคนำ แต่อาศัยอาศัยความแม่นยำกว่าทางทฤษฎีของกลุ่มจัดตั้ง ไปช่วงชิงการนำมวลชน) ที่ถูกเรียกว่า “ลัทธิลุกขึ้นสู้แบบเป็นไปเอง” หรือ “ลัทธิชุมนุมสำแดงกำลังโดยไม่ต้องจัดตั้ง” ซึ่งในโลกนี้มีอยู่น้อยมากที่จะประสบความสำเร็จ หรือหากสำเร็จชั่วคราว (แบบการลุกฮือของนักศึกษาไทย 14 ตุลาคม 2516 หรือ นักศึกษาปารีส ค.ศ.1968 หรือ อาหรับสปริงส์) ก็ถูกปล้นชิงกลับไปได้อย่างง่ายดาย (เว้นเสียแต่ว่า อปท.สร้างข้อเสนอนี้ เพื่ออำพรางพฤติกรรมของกลุ่มตนที่เน้น”ซุ่มซ่อนยาวนาน รอคอยโอกาส จนไม่เคยมีโอกาส” ก็เป็นเรื่องที่ต้องแยกว่ากันต่างหาก)
7) ขาดการนำเสนอรูปแบบรัฐที่จะสถาปนาขึ้นหลังจากการต่อสู้แล้วได้รับชัยชนะอย่างชัดเจนในฐานะเป้าหมายของรัฐที่ดีกว่าปัจจุบัน
ผู้เขียนขอย้ำข้อเสนออีกครั้ง(หลังจากเคยนำเสนอในหัวข้อเมื่อหลายปีก่อน ทางเลือกรัฐสยามหลังเผด็จการ : ข้อเสนอเพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน, 2559)ว่า ความพยายามดิ้นรนหมุนเวลากลับย้อนไปสู่สภาพประชาธิปไตยครึ่งใบ เพื่อออกแบบประเทศในนามของ การปฏิรูปประเทศ ของบรรดาแนวร่วมเผด็จการสมคบคิด ที่มีเครือข่ายราชสำนักเป็นแกนนำ เป็นการทวนกระแสประวัติศาสตร๋ และเดินสวนทางกับข้อเท็จจริงของสังคม เศรษฐกิจและพัฒนาการที่ได้ยกระดับเป็นประเทศที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการมีบทบาทสูงกว่าภาคเกษตรเด็ดขาด และเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจเปิดกว้างเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก พร้อมกับโครงสร้างประชากรก็มีพลวัต เรียกร้องการกระจายอำนาจในนโยบายสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ จะไม่มีวันบรรลุเป้าหมายได้เลย เพราะเหตุผลหลัก 2 ประการ
1) อำนาจรัฐรวมศูนย์ภายใต้ แนวทางรัฐใหญ่ สังคมแตกแยก เป็นทั้งเครื่องมือ และเป้าหมายในตัวเองของพลังเผด็จการ เพราะมันคือ”ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น”ที่ เป็นมรดกชั่วของสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีเครือข่ายราชสำนักผสมโรงเป็นรัฐซ้อนรัฐ
2) อำนาจรัฐรวมศูนย์ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างถึงที่สุด ทำให้ความอยุติธรรมและเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงขึ้นเป็น”รวยกระจุก จนกระจาย” นอกเหนือจากความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจและการพร่าผลาญทรัพยากรอย่างไร้ทิศทาง

ผู้เขียนขอยืนยันว่า ประวัติศาสตร์ของสังคมสยามทั้งที่เป็นจริง และตำนานแต่ครั้งโบราณยืนยันชัดว่า รัฐสยามครั้งโบราณ ไม่ได้ และไม่เคยมีการรวมศูนย์เบ็ดเสร็จแบบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่รวมตัวกันแบบหลวมๆบนระบบการควบคุมมวลชนในสังคมเกษตรกรรม  แม้จะใช้คำอ้างทางทฤษฎีที่อิงเข้ากับศาสนาฮินดูหรือพุทธ ที่ว่ากษัตริย์ คือเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิตของผู้คน ก็เป็นแค่อุดมคติ ไม่เคยปรากฏเป็นรูปธรรม  
ความจริงแล้ว สมบูรณาญาสิทธิราช เป็น”สิ่งแปลกปลอมจากกัมพูชาโบราณในนามลัทธิเทวราชา” ที่สร้างความขัดแย้งพื้นฐานระหว่างอำนาจกษัตริย์ในส่วนกลางกับรัฐชายขอบและพลเมืองที่เป็นเลกไพร่มาตลอด ก่อนที่ยุคของการรุกคืบของมหาอำนาจตะวันตกในเอเชีย และสนธิสัญญาบาวริ่ง ทำให้เกิดกลายพันธุ์เป็นต้นธารของสมบูรณาญาสิทธิราช ที่รวมศูนย์อำนาจรุนแรง แต่มีอายุแสนสั้น
แม้หลายปีมานี้ เครือข่ายราชสำนักจะสามารถลุแก่อำนาจ ถึงขั้นผลักดันแนวทางที่กลุ่มตนเองเสนอเช่น เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิชัยพัฒนา ให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ พร่ำสอนให้คนไทยรังเกียจทุนนิยม พร้อมกับวิจารณ์ผู้ประกอบการในระบอบทุนนิยมว่าเลวว่าชั่ว ทั้งที่เครือข่ายราชสำนักได้เป็นกลุ่มทุนนิยมอภิสิทธิ์เสียจนรวยล้นฟ้า และมีวิถีการใช้ชีวิตส่วนตัวยิ่งกว่าฟุ่มเฟือยและใช้อภิสิทธิ์ฉาวโฉ่ แต่ก็ไม่สามารถหวนคืนอย่างเปิดเผยอย่างเป็นทางการให้สมบูรณาญาสิทธิราชในชื่อเดิมกลับมาได้อีก แม้โดยพฤตินัยจะสามารถแย่งชิงเป็นแกนนำในแนวร่วมเผด็จการสมคบคิดได้อย่างมั่นคง เพื่อรักษาพื้นที่ทางอำนาจนำในรัฐรวมศูนย์ขนาดใหญ่ โดยข้ออ้างคร่ำคร่า(ที่ยังมีพลังหลงเหลืออยู่)คือ ความมั่นคงของรัฐ และการปกป้องสถาบันกษัตริย์

รัฐรวมศูนย์ขนาดใหญ่ภายใต้แนวร่วมเผด็จการสมคบคิด ไม่เพียงแต่ทำให้สังคมโดยรวมต้องแบกภาระต้นทุนสูงเกินจำเป็น เพราะการจัดการรัฐมีประสิทธิภาพต่ำ เป็นแหล่งส้องสุมพฤติกรรมฉ้อฉลสารพัด และขาดความยืดหยุ่นในกระบวนการทำงาน  ในขณะที่การตัดสินนโยบายจะถือเอาประโยชน์ของรัฐมากกว่าผลประโยชน์ของพลเมือง และใช้อำนาจคุกคามเสรีภาพของมวลชน นับแต่การเก็บภาษีและการสร้างสภาพบังคับทางกฎหมายอย่างเหมารวม กระทั่งประชาชนพลเมืองทุกระดับไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินนโยบายสาธารณะเลย

เงื่อนไขสำคัญที่ต้องเน้นย้ำกันในที่นี้คือ ชัยชนะเหนือแนวร่วมเผด็จการสมคบคิด ที่มีเครือข่ายราชสำนักเป็นแกนนำ จะเกิดขึ้นได้ พลังอันงดงามของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะต้องเร่งรัดหาคำตอบเพื่อแหวกวงล้อมทางปัญญาในการออกแบบสังคมที่เปิดทางให้พลังประชาธิปไตยได้ลงรากอย่างยั่งยืนในยุคหลังเผด็จการ ด้วยการยกเลิกโครงสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์ภายใต้กรอบปรัชญา”รัฐเดี่ยว” ไปสู่”สหพันธรัฐสยาม” เท่านั้น

ข้อเสนอของผู้เขียนที่ผ่านการตกผลึกแล้ว ตอกย้ำว่า โครงสร้างอำนาจรัฐแบบสหพันธรัฐ (ต้นแบบคือสวิตเซอร์แลนด์) ภายใต้แนวทางรัฐเล็กประสิทธิภาพสูง สามารถประสานและสนองตอบการสร้างสังคมใหญ่ที่ปลอดการครอบงำของทุนผูกขาดและรัฐที่ฉ้อฉล เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกระดับอย่างมีพลวัต และสามารถป้องกันการฟื้นตัวของพลังเผด็จการได้อย่างยั่งยืน และ ลบล้างมรดกร้ายของสมบูรณาญาสิทธิราชได้อย่างหมดจด ปิดหนทางฟื้นกลับมาของ แนวร่วมเผด็จการสมคบคิด ที่มีเครือข่ายราชสำนักเป็นแกนนำ

ในที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอจินตนาการที่เป็นรูปธรรม ด้วยแผนที่นำทาง(โรดแม็ป) สำหรับรัฐสยามในอนาคต ที่สามารถที่ปิดช่องมิให้อำนาจเผด็จการหรืออำนาจรัฐจากการเลือกตั้งสร้างสถานการณ์แย่งชิงอำนาจกลับคืนไป ประกอบด้วย
1) ยอมรับแนวทางของการสร้างความมั่งคั่งภายใต้กลไกทุนนิยมเสรี ที่ตั้งบนรากฐานของการสร้างและกระจายทุน 5 ประเภท (ทุนตามธรรมชาติ ทุนทางกายภาพ ทุนทางเทคโนโลยี ทุนสาธารณูปโภค และทุนวัฒนธรรม)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีดุลยภาพระหว่างความมั่งคั่งของสาธารณะ และความมั่งคั่งส่วนบุคคล
2) ปฏิเสธแนวคิดเรื่องรัฐในระยะเปลี่ยนผ่านของมาร์กซ-เลนิน แต่หันมาเปิดทางเลือกใหม่ให้แนวทางอื่น ที่ออกแบบให้โครงสร้างรัฐกับเศรษฐศาสตร์การเมืองทุนนิยมดำรงอยู่ควบคู่กัน เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากร และแบ่งปันผลประโยชน์ของชนชั้นต่างๆในและข้ามสังคม มีประสิทธิผล
3) ออกแบบโครงสร้างอำนาจรัฐใหม่ภายใต้แนวทางรัฐเล็กที่”ประสิทธิภาพสูง ประสานและสนองตอบ”สังคมใหญ่อย่างมีพลวัต
4) กำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ “เอกภาพในความหลากหลาย” ที่ยึดมั่นกับการ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ” ให้มีการจัดตั้งและการกำหนดยุทธวิธีเป็นอิสระและพึ่งตนเองของหน่วยการต่อสู้ในทุกเวทีที่เป็นไปได้ ภายใต้สถานการณ์รูปธรรมที่เป็นจริง เพื่อเรียนรู้และยกระดับการจัดตั้งให้เหมาะสมและยืดหยุ่น แต่ประสานกับพื้นที่ต่างๆ จะช่วยกันขับเคลื่อนดำเนินการรุกทางการเมืองรอบด้าน พร้อมกับสั่งสมประสบการณ์การต่อสู้ (เศรษฐกิจ การชุมนุมเรียกร้อง การระดมสมาชิก หรือสร้างแนวร่วม รวมทั้งการยกระดับจิตสำนึกของผู้เข้าร่วมขบวน) เพื่อสร้างแนวร่วมประชาชาติประชาธิปไตย นำไปสู่การสร้างสหพันธรัฐสยามขึ้นในอนาคตที่มีสภาพ”รัฐเล็ก สังคมใหญ่” ที่ไพบูลย์มั่งคั่งยั่งยืน และมีความหลากหลายในการสร้างศักยภาพให้แก่ประชาชนพลเมืองเต็มภาคภูมิ