ศิวา มหายุทธ์
1 มิถุนายน 2558
ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว
ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (จากนี้จะขอเรียกว่า สมศักดิ์ เจียม) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ผู้ซึ่งลี้ภัยเผด็จการในต่างประเทศ
ที่วิพากษ์คำให้สัมภาษณ์ทักษิณ ชินวัตร มีสาระหลักที่สำคัญ 2 ข้อคือ
-
ข้อกล่าวหาว่า การรัฐประหารหลายครั้งใน 8 ปีนี้
เกิดเพราะฝ่ายอำมาตย์มุ่งจะล้มรัฐบาลของทักษิณและยิ่งลักษณ์ มีลักษณะคับแคบมองเห็นแต่ความผิดของผู้อื่น
ไม่มองความผิดพลาดของตนในปัญหา "จังหวะก้าว"
ของฝ่ายทักษิณ-รัฐบาลยิ่งลักษณ์เอง
- คนเสื้อแดงไม่ยอมรับความจริงว่าตัวเองใช้อาวุธ ทำให้รัฐบาลที่ตนเองสนับสนุนคุมสถานการณ์ไม่ได้
เป็นข้ออ้างยึดอำนาจของกองทัพและทำให้ คนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ แม้แต่ กปปส. ไม่ได้ผิดถึงต้องให้ตายขนาดนั้น
คำวิพากษ์ในข้อแรกของสมศักดิ์
เจียมเป็นประเด็นถกเถึยงกันได้ไม่รู้จบ ยากจะหาข้อสรุปได้ จึงไม่ใช่ประเด็นหลักที่ผู้เขียนจะต้องลุกขึ้นมาวิวาทะ
แต่คำวิพากษ์ในข้อหลัง ผู้เขียนอ่านทบทวนหลายรอบ
ทั้งโดยสาระและอรรถะของเนื้อหาแล้ว ต้องขอท้วงติงในฐานะ"มิตรร่วมรบ" อย่างจริงจังก่อนที่จะปล่อยให้ผ่านไปจนเกิดความเข้าใจผิดว่าทัศนคติที่สมศักดิ์
เจียมแสดงนั้นเป็นสัจธรรมทั่วไป แล้วแพร่กระจายไปเสมือนหนึ่งยาฝิ่นของการต่อสู้กับพลังอำนาจรัฐเผด็จการอำมาตย์
ทัศนคติของสมศักดิ์
เจียมต่อการต่อสู้ในสงครามระหว่างพลังประชาธิปไตยและเผด็จการเห็นได้ชัดว่ามีลักษณะประเมิน
และ ดูเบาต่อสถานการณ์กับเจตนาของกลุ่มพลังเผด็จการอำมาตย์ต่ำเกินไป จนเกิดเป็นท่าทีแบบเหนือจริงแบบตัวละครในบทละครเสียดสีของ
แฟร์นันโด อาราบัล เรื่อง ปิคนิคกลางสนามรบ (Picnic on the Battlefield) ซึ่งเป็นทัศนคติที่หลู่ซิ่น
เคยวิพากษ์ปัญญาชนในอดีตของจีนที่ว่า "นักปฏิวัติในซาลอน" มาแล้ว
สมศักดิ์ เจียม ระบุว่า "...ความผิดพลาดที่สำคัญอีกอย่างที่พรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมากไม่เคยยอมเผชิญกับความจริง
คือ เรื่องการใช้อาวุธในหมู่กลุ่มคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งตลอดช่วงการชุมนุมของ กปปส.
เมื่อทุกฝ่ายพร้อมจะเผชิญความจริง อีกฝ่ายพร้อมจะยอมรับให้จัดการความผิดของการรัฐประหารยึดอำนาจจึงจะสามารถนำมาอภิปรายกันเต็มที่ได้
อยากจะเสนอให้คิดแบบสามัญสำนึกง่ายๆ ว่าการใช้อาวุธในขณะมีรัฐบาลที่กลุ่มคนเสื้อแดงเชียร์อยู่ในอำนาจมีแต่ทำให้รัฐบาลเสีย
พวกตัวเองเป็นรัฐบาล ใช้อาวุธ คนที่แย่คือรัฐบาลที่คุมสถานการณ์ไม่ได้ มีคนเจ็บคนตายอยู่ตลอดเวลา
และเป็นข้ออ้างอย่างดีให้ทหารเข้ายึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ยังคงเอามาอ้างจนทุกวันนี้ ขนาดยังไม่ได้พูดเชิงหลักการที่ว่า
คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือแม่แต่เป็นคนที่เป็นมวลชน กปปส.จริง ไม่ได้มีอะไรที่ผิดที่ถึงกับต้องมาตายกันแบบนั้น" และว่า"ผมตระหนักดีเรื่องที่ว่ามีเสื้อแดงเอง เช่น
ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือตำรวจบางคนเสียชีวิต โดนทำร้าย แต่วิธีจัดการเรื่องนี้ไม่ใช่ด้วยวิธีแบบนี้
และความจริงคือ ผลของความรุนแรงส่วนใหญ่ และเหยื่อส่วนใหญ่ตลอดวิกฤตนั้น คือ กปปส.
พูดอีกอย่างคือ ฝ่ายเสื้อแดงที่ติดอาวุธเป็นฝ่ายลงมือใช้วิธีนี้มากกว่า และใช้อย่างชนิดมั่วซั่วไปหมดมากกว่า...”
สรุปประเด็นสาระที่สมศักดิ์
เจียมนำเสนอคือ
1) พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงจำนวนมากไม่เคยยอมเผชิญกับความจริงเรื่องการใช้อาวุธในหมู่คนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง
2) การใช้อาวุธของกลุ่มคนดังกล่าว
บั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ถูกมองว่าควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ และสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มเผด็จการอำมาตย์ใช้เป็นข้ออ้างเปิดทางให้กองทัพทำรัฐประหาร
3) ฝ่ายเสื้อแดงที่ติดอาวุธเป็นฝ่ายลงมือใช้อาวุธมากกว่ากปปส.
และใช้อย่างชนิดมั่วซั่วไปหมดมากกว่า
4) ในเชิงหลักการแล้ว
การใช้อาวุธของกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือแม่แต่เป็นคนที่เป็นมวลชน
กปปส.จริง ไม่ได้มีอะไรที่ผิดที่ถึงกับต้องมาตายกันแบบนั้น
ทัศนคติของสมศักดิ์เจียมที่แจกแจงมา
4 ประเด็นข้างต้น ผู้เขียนขอท้วงติงดังต่อไปนี้
ข้อแรกสุด ในทางยุทธศาสตร์การต่อสู้ในทางการเมืองแบบมวลชนร่วมสมัย
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าประกอบด้วยหลายพื้นที่ (รัฐสภา บนท้องถนน พื้นที่สื่อ
ต่างประเทศ และกองกำลัง) และผู้ที่แสดงแต่ละพื้นที่ย่อมมีภารกิจและบทบาทที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสมศักดิ์ เจียม เอ่ยถึงในหลายครั้งในข้อเขียนของเขาอย่างไม่ลงลึกในรายละเอียด
ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่า นิยามของสมศักดิ์ เจียมนั้น มีความหมายอย่างไรกันแน่
และตรงความเข้าใจทั่วไปมากน้อยเพียงใด
กองกำลังจัดตั้งที่มีอาวุธของคนเสื้อแดงบางกลุ่มได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่จริง
และถือเป็นหนึ่งในพื้นที่การต่อสู้ที่จำเป็น ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (แม้จะไม่ถึงขั้นกับคำพูดเหมาเจ๋อตงที่เคยบอกว่า การปฏิวัติไม่ใช่งานเลี้ยงมื้อค่ำ")
แต่วัตถุประสงค์ของกองกำลังดังกล่าวมีขีดจำกัดอย่างมากเพราะคนที่จัดตั้งขึ้นมานั้นตระหนักดีว่า
การใช้อาวุธซึ่งถือเป็นปฎิบัติการทางทหารอย่างหนึ่งนั้นจะต้องมีลักษณะ การทหารเพื่อรับใช้การเมืองหรือ"การเมืองนำการทหาร"เสมอ
ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะให้พรรคเพื่อไทยที่ต่อสู้ในเวทีรัฐสภาและแกนนำ
นปช. ที่ต่อสู้บนท้องถนนออกมายอมรับโดยเปิดเผยว่ามีการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธ
ข้อเสนอของสมศักดิ์ เจียม ที่ให้พวกเขายอมรับจึงเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
ข้อที่สอง
การใช้อาวุธของกลุ่มคนดังกล่าว บั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ถูกมองว่าควบคุมสถานการณ์ไม่ได้
และสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มเผด็จการอำมาตย์ใช้เป็นข้ออ้างเปิดทางให้กองทัพทำรัฐประหาร
เป็นการกล่าวโทษเกินจริง และวิพากษ์ขบวนแถวที่ร่วมการต่อสู้อย่างไม่ฉันมิตร(แม้จะไม่ถึงขั้นฉันปรปักษ์)
ข้อเท็จจริงที่สมศักดิ์ เจียม เองก็กล่าวถึงอย่างหยาบๆว่า
"...ก็มีส่วนจริง ในแง่ที่ว่า มีกำลังอำนาจของบุคคลและกลุ่มที่แวดล้อมสถาบันกษัตริย์
ไม่ชอบทักษิณ และคงอยากเห็นทักษิณ-ยิ่งลักษณ์แพ้เลือกตั้ง หรือถ้าชนะ
ก็อยากเห็นล้มเหลว หรือหลุดจากตำแหน่ง..."
แต่เขากลับมองว่า"...ไม่ได้แปลว่า จู่ๆ เขาจะล้มได้ นอกจากว่า พวกนั้นไม่ใช่เทวดาที่จะเสกให้อะไรเกิดขึ้นตามใจชอบ
(และประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของ "พรหมลิขิต"
ที่กำหนดไว้ตายตัว) การเมืองสมัยใหม่ มันเป็นเรื่องระดับมวลชน เรื่องระดับ
"สาธารณะ" เอาชนะกันในเรื่อง "public opinion" (ความเห็นสาธารณะ) ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องแค่คนไม่กี่คน "วางแผน" กันแล้วก็เกิดขึ้นได้..." แล้วยังเสริมอีกว่า"...ตลอด 2 ปีกว่าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีกลุ่มโน้นกลุ่มนี้
ม็อบโน้นม็อบนี้พยายามก่อหวอดไม่รู้กี่ครั้ง แต่สุดท้ายก็ไม่มีน้ำยาอะไร
แม้แต่ม็อบ กปปส. และการรัฐประหาร 22 พ.ค.เองก็ต้องใช้เวลาถึงครึ่งปีกว่าจึงถึงจุดที่ทหารรู้สึกว่าสามารถตัดสินใจยึดอำนาจได้...."
สมศักดิ์ เจียม เอ่ยข้อความที่ปฏิเสธข้อเท็จจริงว่านับตั้งแต่แรกเริ่มของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ขึ้นสู่อำนาจอย่างพลิกความคาดหมายของกลุ่มเผด็จการอำมาตย์เมื่อกลางปี 2554 เป็นต้นมาขบวนการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างเป็นรูปธรรมได้เกิดขึ้นไม่เคยขาดสายนับแต่
กรณีน้ำท่วมใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ จนถึงการเคลื่อนไหวขององค์กรอิสระ ขบวนการมวลชนบนท้องถนนการเคลื่อนไหวในรัฐสภาของ
สว.ลากตั้ง กลุ่มเอ็นจีโอนิยมเผด็จการ นักวิชาการในมหาวิทยาลัย กลุ่มแพทย์
เทคโนแครตในราชการ กลุ่มตุลาการ สื่อมวลชนกระแสหลักนิยมทหาร และฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนั้โหมกระแสทำพลายความชอบธรรม
จากเชิงปริมาณสู่คุณภาพต่อเนื่อง แม้จะไม่สำเร็จแต่ก็จุดประกายให้เกิดขบวนแถวที่เป็นเอกภาพในการทำลายล้างเข้มข้น
หลังเกิด"ฟางเส้นสุดท้าย"ในกรณีร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
การละเลยที่จะพูดถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวรวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าในขบวนแถวจัดตั้งของกปปส.
ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณนั้น ไม่ได้มีเฉพาะมวลชนจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ หรือ
ชนชั้นกลาง หรือ กลุ่มพันธมิตรฯจำลอง-สนธิ แต่ยังมีกองกำลังทหารในกองทัพบกและกองทัพเรือจำนวนหนึ่งเข้ามีส่วนในขบวนแถวจริงจัง
เป็นกองกำลังใช้ความรุนแรงในฐานะหัวหอกทะลวงฟัน พร้อมด้วยการสนับสนุนทางการเงินเบื้องหลังจากตัวแทนของกลุ่มทุนใหญ่
และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจจะมากกว่าที่ถูกเปิดเผยออกมาว่ามีวงเงินหลายร้อยล้านบาท
รวมทั้งแรงสนับสนุนความชอบธรรมจากบางบุคคลในราชสำนักเองโดยเปิดเผย
ถ้าสมศักดิ์
เจียมเห็นว่า การเคลื่อนตัวของกลุ่มกองกำลังเสื้อแดง ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
แล้วปฏิบัติการในลักษณะสร้างกระแสทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลของมวลชนและกองกำลังจัดตั้งในนาม
กปปส. ที่ได้รับการประสานสอดคล้องเป็นคลื่นถาโถม จากบรรดาคณะตุลาการ กองทัพ และ
องค์กรอิสระ ในการยึดสถานที่ราชการทั่วประเทศ คุกคามทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ ขัดขวางและรุมกระทืบประชาชนที่จะไปเลือกตั้ง
ใช้อาวุธปืนทั้งเบาและหนักอย่างบ้าคลั่งหลายเดือนต่อเนื่อง จนกระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีสภาพ"เป็ดง่อย"จนถึงเวลาสุกงอมให้ทหารยึดอำนาจ
เป็นเพียงความเคลื่อนไหวที่ว่างเปล่าตาม"พรหมลิขิต" ไม่เพียงพอที่จะเปิดทางให้กองทัพอ้างเหตุทำรัฐประหารอย่างนั้นหรือ
นักประวัติศาสตร์ที่เลือกหยิบข้อมูลไม่รอบด้าน
มาสนับสนุนทัศนคติจำเพาะของตนเอง จะเป็นนักประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือได้อย่างไร
เป็นโจทย์ที่สมศักดิ์ เจียม ต้องถามกลับตัวเองบ้างแล้ว
หลังจากตั้งคำถามคนอื่นๆมามากมาย
ข้อที่สาม
สมศักดิ์ เจียม ระบุว่า ฝ่ายเสื้อแดงที่ติดอาวุธเป็นฝ่ายลงมือใช้อาวุธมากกว่ากปปส.
และใช้อย่างชนิดมั่วซั่วไปหมดมากกว่า
คำวิพากษ์ดังกล่าวสมศักดิ์ดูจะก้าวไปไกลถึงขั้นยกตนเองจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์
เป็นผู้ช่ำชองปฏิบัติการทางทหารไปเลยถึงขั้นกล้าระบุ โดยไม่มีสถิติเชิงปริมาณประกอบว่ากองกำลังติดอาวุธฝั่งเสื้อแดงปฏิบัติการมากกว่ากลุ่ม
กปปส. และที่ถึงขั้นสุดขั้วคือกล่าวหาว่า"ใช้อย่างชนิดมั่วซั่ว"
โดยข้อเท็จจริง
ผู้เขียนขอยืนยันว่า ปฏิบัติการใช้อาวุธของกองกำลังคนเสื้อแดงต่อ กปปส. มีวัตถุประสงค์ในด้านจิตวิทยาต่อการชุมนุมและกระทำผิดกฎหมายมากกว่ามุ่งไปที่การทำลายล้างชีวิต
และทรัพย์สิน ดังนั้น การเลือกเป้าหมายจึงไม่ได้กระทำอย่าง" มั่วซั่ว"
แน่นอน แต่ในปฏิบัติการแต่ละครั้ง(ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งมีกองกำลังจัดตั้งทางทหารร่วมวงอย่างเข้มแข็ง) ไม่มีการคาดเดาผลลัพธ์ล่วงหน้าได้
และอาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเป็นปกติของปฏิบัติการ
น่าเสียดายที่สมศักดิ์
เจียมไม่ได้ระบุว่าปฏิบัติการที่"ไม่มั่วซั่ว"ต้องทำอย่างไร กำกับไว้ด้วย
สุดท้าย ทัศนคติของสมศักดิ์เจียมที่ว่า
"...ในเชิงหลักการแล้ว การใช้อาวุธของกลุ่มคนเสื้อแดง
ทำให้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือแม่แต่เป็นคนที่เป็นมวลชน กปปส.จริง ไม่ได้มีอะไรที่ผิดที่ถึงกับต้องมาตายกันแบบนั้น.."
ช่างละม้ายคล้ายกับข้อเสนอหลังเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ 2535 อันลือลั่นของตัวเขาเองที่ว่า " เป็นฝ่ายแพ้ ดีกว่าพาคนไปตาย"
ที่เรียกเสียงวิจารณ์ได้อึงมี่มาแล้ว
ทัศนคติเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ดอสตอยเยฟสกี้ เคยเอ่ยถึงในหนังสือต่อต้านการปฏิวัติของเขาเรื่อง
The Devils เมื่อกว่าร้อยปีก่อน และอัลแบร์
กามูส์ในละครเรื่อง Les Justes หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ที่เสนอแนวคิดหลักว่า เมื่อใดก็ตามที่คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ตายในการต่อสู้
ถือว่านั่นเป็น "ความรุนแรงที่อยุติธรรม"
ซึ่งเป็นอุดมคติด้านมนุษยธรรมสุดขั้ว ที่ไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ โดยเฉพาะในขบวนแถวต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นรูปธรรม
สมศักดิ์ เจียม
อาจจะมีอุดมคติด้านมนุษยธรรมด้านหนึ่ง นอกเหนือจากด้านของการรักความเป็นธรรมและเสรีภาพอีกด้านหนึ่ง
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในฐานะมนุษย์ปุถุชน แต่ในขบวนแถวการต่อสู้ การนำเสนอที่สุดขั้วเช่นนี้
นอกจากไม่สร้างสรรค์แล้วยังเปิดช่องให้ฝ่ายตรงกันข้ามนำไปแอบอ้างใช้ประโยชน์ในการทำลายความชอบธรรมของผู้ปฏิบัติงานในกองกำลังจัดตั้งขึ้นด้วย
ผู้เขียนขอย้ำว่า
กลุ่มผู้ที่ปฏิบัติการในกองกำลังติดอาวุธจัดตั้งของคนเสื้อแดงนั้น ไม่ได้มีจิตใจกระหายเลือดต้องการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้อย่างทำลายล้าง
แต่ประสบการณ์จากการต่อสู้กับพลังอำนาจรัฐเผด็จการที่ใช้ความรุนแรงเป็นสรณะ ผสมกับได้เผชิญความเจ้าเล่ห์เพทุบายทุกรูปแบบของเผด็จการอำมาตย์มายาวนาน
ทำให้การตัดสินใจเข้าร่วมในกองกำลังติดอาวุธเพื่อสร้างประชาธิปไตย เป็นทางเลือกทางหนึ่ง
ไม่ว่าจะมีผู้เห็นด้วยหรือไม่
ที่สำคัญสมศักดิ์
เจียมไม่ได้ใช้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอะไร มายืนยันในขัอสรุปของเขาที่ว่า"คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่"นั้นมีจริงหรือไม่และมากน้อยแค่ไหน
และต่างจาก"มวลชนของกปปส."อย่างไร เพราะโดยข้อเท็จจริงของปฏิบัติการนั้นเป็นที่รู้กันว่า
แกนนำของกปปส. ได้ใช้กลยุทธ์"โล่มนุษย์"
แบบเดียวกันที่จำลองศรีเมืองใช้มาโดยตลอด โดยมีมวลชนจำนวนหนึ่งที่ถูกจัดตั้งมาพร้อมใจรับภารกิจดังกล่าว
ดังนั้นอาจจะมีปรากฏการณ์"ลูกหลง"ในระหว่างปฏิบัติการเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องปกติที่มักจะถูกนำไปขยายเกินจริงตามแนวทางปฏิบัติการจิตวิทยา
ซึ่งสมศักดิ์ เจียมควรตระหนักเป็นอย่างดี หากไม่แสร้งไร้เดียงสาเกินสมควร
แล้ว สมศักดิ์ เจียม
ก็คงจะไม่ถึงขั้นไร้เดียงสา จนกระทั่งลืมข้อเท็จจริงที่สำคัญในชีวิตที่ผ่านมาไม่นานของเขาเองว่า
หากปราศจากผู้ปฏิบัติงานนิรนามบางส่วนของกองกำลังจัดตั้งติดอาวุธของคนเสื้อแดงกลุ่มที่เขาวิพากษ์
ซึ่งถือหลักการเฉพาะหน้า" ช่วยพาพ้นภัยเผด็จการ อย่างไร้เงื่อนไข"
ตัวสมศักดิ์ เจียมเองจะไม่สามารถหลบหนีรอด ไปมีชีวิตเพื่อใช้เสรีภาพทางความคิด เขียนเสนอแนะทัศนคติและบทวิพากษ์ในต่างประเทศ
อย่างทุกวันนี้ได้เลย
ข้อท้วงติงสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากเสนอแนะต่อสมศักดิ์
เจียม ซึ่งผู้เขียนยังถือเสมือนเป็น"มิตรร่วมรบ"ต่อไป ไม่แปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นว่า
แม้สมศักดิ์ เจียม จะพยายามจำกัดตัวเองเพื่อรักษาภาพลักษณ์ส่วนตัวในฐานะนักประวัติศาสตร์อิสระที่มีจิตใจรักประชาธิปไตย
ไม่ปรารถนาที่จะประทับตราว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนแถวจัดตั้งเต็มตัว แต่สถานการณ์ที่ชักพาไปให้ทางเลือกหดแคบลง
การรักษาท่าทีของ"แนวร่วม"ต่อขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้นำพาสังคมปลอดพ้นจากพลังของเผด็จการอำมาตย์นั้นจำต้องกำหนดท่าทีในการวิพากษ์เสียใหม่ว่าเรื่องใดควรวิพากษ์แบบ"วงใน"อย่างฉันมิตร
เรื่องใดควรนำเสนอต่อสาธารณะเป็นการทั่วไปอย่างเป็นกลาง
การนำเสนอคำวิพากษ์แบบโดยไม่แยกแยะ
พร่ำเพรื่อ หรือผิดกาละเทศะ ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดหลักการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ต่อขบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น
แต่อาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มเผด็จการอำมาตย์ได้ไม่ยาก เพราะการต่อสู้ของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ยังคงต้องมีเส้นทางอีกยาวไกล และคดเคี้ยวยิ่ง ไม่สามารถปล่อยให้เกิดภาวะ
"ปิคนิคกลางสนามรบ"และเผยแพร่"ฝิ่นของปัญญาชน"
ได้โดยปราศจากเงื่อนไข